หลายคนคิดว่าการฝึกเป็นเรื่องของสุนัข แต่ทราบหรือไม่ว่า แมวก็เรียนรู้คำสั่งได้เช่นกัน แมวของคุณสามารถจดจำชื่อของตัวเองได้ และมาหาเมื่อคุณเรียก เพื่อช่วยให้สัตว์เลี้ยงของคุณเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ คุณควรเริ่มฝึกตั้งแต่เขายังเด็ก ๆ
วิธีฝึกแมวให้มีทักษะการเข้าสังคม
การฝึกลูกแมวเริ่มที่การเข้าสังคม ยิ่งแมวได้พบเจอผู้คนตั้งแต่เด็กมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งตื่นกลัวเมื่อโตขึ้นน้อยลงเท่านั้น ทันทีที่ลูกแมวเดินได้เองโดยที่แม่แมวไม่ต้องคอยช่วยเหลือ ลูกแมวมักจะเข้าหาสถานการณ์ใหม่ ๆ ด้วยความมั่นใจและความอยากรู้อยากเห็นซึ่งเป็นอุปนิสัยที่โดดเด่นของแมว ลูกแมวจะมีความกลัวน้อยที่สุดเมื่ออายุ 3-7 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่พวกเขาเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมของตน เมื่อพ้นช่วงนี้ไปแล้ว ลูกแมวจะระวังตัวมากขึ้น ดังนั้นผู้เพาะพันธุ์จึงควรแนะนำสิ่งต่าง ๆ ให้แมวรู้จักให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก่อนที่คุณจะมารับไป ซึ่งช่วงวัยที่ดีที่สุดของการนำไปเลี้ยงคือ 8-13 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และผู้เพาะพันธุ์)
การพัฒนาทางอารมณ์ของลูกแมวไม่ได้หยุดอยู่ที่อายุ 12 สัปดาห์ คุณจึงควรฝึกลูกแมวต่อเมื่อมาอยู่ที่บ้าน นี่เป็นส่วนหนึ่งของเคล็ดลับที่จะช่วยให้ลูกแมวของคุณพัฒนาต่อไปได้อีก
- เชิญเพื่อนที่มีลักษณะต่าง ๆ กันมาที่บ้าน เพื่อช่วยให้ฝึกลูกแมวให้คุ้นเคยกับผู้คนที่มีลักษณะหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านอายุ เพศ ส่วนสูง สีผม และอื่น ๆ
- หากบ้านของคุณไม่มีเด็ก ลองชวนเด็ก ๆ มาที่บ้านแต่ต้องแน่ใจว่าคุณได้บอกวิธีดูแลลูกแมวให้เด็กทราบ โดยเฉพาะถ้าเด็กเหล่านี้ไม่เคยเห็นลูกแมวมาก่อน
- และถ้าคุณรู้จักคนที่มีสุนัขที่เป็นมิตรกับแมว ชวนให้เขาพาสุนัข มาเจอกับลูกแมวของคุณด้วย แต่สุนัขควรจะต้องผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดีและสามารถปฏิบัติตามคำสั่ง “นิ่ง/คอย” แม้ว่าจะตื่นเต้นเมื่อพบกับเพื่อนใหม่ตัวจิ๋วก็ตาม
- ฝึกลูกแมวให้นั่งรถเป็นระยะทางสั้น ๆ เพื่อให้ชินกับการเดินทางโดยรถยนต์ตั้งแต่อายุน้อย ๆ ให้ขนมเมื่อกลับถึงบ้าน เพื่อให้เขามองว่าการเดินทางคือการได้รับรางวัลอย่างหนึ่ง
วิธีฝึกแมวและการฝึกลูกแมว เบื้องต้น
เมื่อแมวของคุณจดจำทักษะการเข้าสังคมพื้นฐานได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็สามารถเริ่มฝึกลูกแมวในทักษะด้านอื่น ๆ ต่อไป แต่ก่อนที่จะเริ่ม ขอแนะนำให้พาแมวไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าแมวไม่มีโรคประจำตัวที่อาจเป็นปัญหาต่อการฝึก เช่น ปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อหรือการได้ยิน
เมื่อแมวมีสุขภาพที่ดีแล้ว เราก็เริ่มสอนทักษะอื่น ๆ ให้กับเขากันเลย เคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพให้กับชั่วโมงการฝึกของคุณ
- เน้นคำที่ใช้ในการสอนให้แมวทำสิ่งต่าง ๆ (เช่น “นั่ง”) ด้วยการพูดอย่างชัดเจนและมั่นใจ ตามด้วยคำชม ตัวอย่างเช่น “นั่ง ดี นั่ง”
- ให้ขนมเป็นรางวัลเพื่อส่งเสริมการฝึก ใครล่ะจะไม่ตั้งใจทำงานเมื่อรู้ว่ามีขนมแสนอร่อยรออยู่
- ใช้คลิกเกอร์หรือกระดิ่งเสียงเบา ๆ เวลาให้ขนม เพื่อให้แมวตีความว่าเสียงนั้นคือรางวัล และเรียนรู้ที่จะทำตามคำสั่งเมื่อได้ยินเสียงนี้อีก
- ฝึกลูกแมวหรือแมวโตก่อนมื้ออาหาร เพราะรางวัลที่เป็นของกินคงไม่ดึงดูดนักหากท้องยังอิ่ม ในขณะเดียวกันก็อย่าให้แมวอดอาหารเพื่อหวังให้พวกเขารีบเรียนรู้ เพราะแมวที่หิวมาก ๆ อาจหมดความอดทนอย่างรวดเร็ว
- ขณะฝึกลูกแมว พยายามไม่ให้มีเสียงรอบข้างจากโทรทัศน์หรือวิทยุมารบกวน เพื่อให้แมวจดจ่อกับการฝึก
- ใช้เวลาในการฝึกเพียงสั้น ๆ และฝึกให้เสร็จก่อนที่แมวจะเบื่อหรือเหนื่อย โดยไม่ควรเกิน 15 นาทีต่อการฝึกหนึ่งครั้ง เพื่อให้นักเรียนตัวน้อยของคุณยังคงสดชื่นอยู่
- ดูแลชั่วโมงฝึกลูกแมวให้มีความเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผู้ฝึกคนเดิม (อาจเป็นคุณ หรือครูฝึกมืออาชีพ) รวมถึงคำสั่ง สัญญาณ และรางวัล
- รอจนแมวเรียนรู้ทักษะหนึ่งได้แล้วค่อยสอนทักษะต่อไป เพราะแมวอาจจำไม่ได้หากสอนหลายทักษะพร้อมกัน
- พยายามฝึกลูกแมวครั้งละ 10 นาทีทุกวัน เพราะการฝึกเป็นครั้งคราวนั้นอาจไม่ได้ผลตามต้องการและทำให้แมวสับสน
- ขอให้อดทน วิธีฝึกแมวต้องใช้เวลา คุณควรให้คำชมและรางวัลแก่สัตว์เลี้ยงทุกครั้งที่ฝึกและมีพฤติกรรมที่ดี หากแมวทำผิดไปจากที่สอน บอกอย่างหนักแน่นว่า “ไม่” ก่อนจะบอกให้เขาทำสิ่งอื่น ตัวอย่างเช่น หากแมวทำสิ่งของตกพื้น ให้พูดว่า “ไม่” และนำของเล่นมาแขวนให้พวกเขาเล่นแทน
เมื่อคุณทราบวิธีเบื้องต้นในการฝึกลูกแมวหรือแมวโตแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณจะสอนทักษะอื่น ๆ ให้กับเขา มาสนุกกันเลย!
การตั้งชื่อแมวเป็นประสบการณ์น่าสนุกของทุกคนในครอบครัว และเมื่อได้ชื่อที่ทุกคนพอใจแล้ว คุณจะอยากเรียกหาเจ้าเหมียวทั้งวันเป็นแน่! ยิ่งคุณเรียกชื่อแมวบ่อยเท่าไหร่ แมวก็จะเรียนรู้ชื่อได้เร็วขึ้นเท่านั้น
พูดชื่อซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาแห่งความสุขของแมว เช่น ช่วงกินอาหาร หรือเวลาที่คุณลูบตัวและเล่นกับพวกเขา
อย่าตะโกนเรียกชื่อหากพวกเขาทำตัวไม่ดี เพราะแมวจะเชื่อมโยงชื่อของตนเข้ากับการแสดงออกเชิงลบ แล้วอาจไม่มาหาคุณเร็วเท่าที่คุณต้องการเมื่อเรียกครั้งต่อไป นี่เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกับแมวที่เลี้ยงนอกบ้าน
แม้ว่าตามสัญชาตญาณแล้ว แมวจะออกไปขับถ่ายข้างนอกบ้าน แต่ก็สามารถปรับตัวมาใช้กระบะทรายได้ โดยเฉพาะเมื่อได้รับการฝึกตั้งแต่อายุน้อย ๆ แม้แต่แมวสูงวัยก็ยังพบว่ากระบะทรายมีประโยชน์ถึงจะไม่เคยใช้มาก่อนก็ตาม เมื่อข้อเริ่มยึดติดและไม่มีกำลังที่จะออกไปข้างนอกเหมือนแต่ก่อน นี่เป็นขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะช่วยให้แมวเรียนรู้วิธีใช้กระบะทราย
ลูกแมวบางตัวเคยผ่านการฝึกใช้กระบะทรายมาก่อน แต่ถึงแม้จะยังไม่เคย คุณก็สามารถฝึกเขาได้ ในการฝึกลูกแมวให้ใช้กระบะทราย ควรค่อย ๆ อุ้มเขาลงในกระบะทรายหลังกินอาหาร หลังตื่นนอน และเมื่อคุณเห็นเขากำลังทำท่าดม เกา หรือหมอบบนพื้น เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณว่าแมวต้องการขับถ่าย! วิธีฝึกแมวให้ขับถ่ายเป็นที่อาจใช้เวลาบ้าง จึงควรอดทนและตั้งใจจริง
ใช้ถาด/กระบะพลาสติกขอบต่ำระหว่างฝึกเพื่อให้ลูกแมวปีนเข้าไปได้ง่าย แล้วค่อยเปลี่ยนไปใช้ถาด/กระบะขนาดใหญ่ที่มีขอบสูงกว่าเดิมเมื่อโตขึ้นเพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอให้เขาหันหลังกลับ และป้องกันไม่ให้ทรายกระเด็นออกมา หากคุณต้องการลดกลิ่นหรือปริมาณทรายที่กระเด็นออกมา และเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้แมวขณะขับถ่าย อาจใช้กระบะทรายแบบมีฝาปิด อย่างไรก็ดี พื้นที่ปิดอาจทำให้แมวบางตัวรู้สึกกลัวและไม่ชอบใช้ก็เป็นได้
แมวแต่ละตัวชอบทรายแตกต่างกันไป บางตัวชอบทรายที่จับตัวเป็นก้อนและ “ตักออกได้” แต่บางตัวชอบทรายเนื้อละเอียดและนุ่มกว่าโดยเฉพาะแมวเลี้ยงในบ้าน (ซึ่งมีอุ้งเท้านุ่มกว่าแมวเลี้ยงนอกบ้าน) และแมวสูงวัยที่เป็นโรคปวดข้อ หากต้องเปลี่ยนทรายที่ใช้ คุณควรค่อย ๆ เปลี่ยนเพื่อไม่ให้แมวแปลกใจจนไม่ยอมใช้ นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงทรายที่มีกลิ่นหอมต่าง ๆ หรือกระดาษปูรองทราย เพราะจมูกที่รับกลิ่นไวของแมวอาจไม่ชอบจนไม่อยากใช้กระบะทราย เททรายลงในกระบะตามปริมาณที่แนะนำข้างบรรจุภัณฑ์ โดยต้องมีความลึกพอให้แมวคุ้ยเขี่ยได้ วางกระดาษหนังสือพิมพ์ไว้ใต้กระบะทรายเพื่อช่วยดักเศษที่ร่วงออกมา
ระหว่างฝึกแมว ควรมีกระบะทรายหนึ่งใบต่อแมวหนึ่งตัว และวางกระบะทรายเกินจำนวนแมวในบ้านเพิ่มอีกหนึ่งใบ วางกระบะทรายแต่ละใบไว้ในที่เงียบ ๆ ที่แมวสามารถทำธุระส่วนตัวได้อย่างสงบ และห่างจากบริเวณที่แมวกินอาหารและน้ำ นอกจากนี้ยังต้องเป็นบริเวณที่แมวเข้าถึงง่าย โดยเฉพาะเมื่อแมวอยู่ในบ้านตลอดทั้งวัน แมวเป็นสัตว์รักสะอาดและมักกลั้นการขับถ่ายไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้หากไม่มีที่ทางที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่สบายตัวแล้ว ยังอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอีกด้วย
แมวเป็นสัตว์รักสะอาด และไม่นิยมใช้กระบะทรายที่มีมูลอยู่จำนวนมาก แมวบางตัวไม่ยอมลงกระบะทรายแม้จะมีการขับถ่ายไปเพียงครั้งเดียวก็ตาม ทรายที่จับตัวเป็นก้อนจะง่ายต่อการตักออก ซึ่งการตักทรายที่สกปรกแล้วทิ้งเป็นสิ่งที่ควรทำทุกวัน เททรายทั้งหมดออกจากกระบะทรายอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งหรือบ่อยกว่านั้นหากคุณไม่ได้ใช้ทรายชนิดจับตัวเป็นก้อน จากนั้นล้างทำความสะอาดกระบะด้วยน้ำร้อนและน้ำยาทำความสะอาด หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อเพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมว
ไม่จับต้องทรายที่เลอะมูลหากคุณตั้งครรภ์เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) หรือโรคติดเชื้อปรสิตจากมูลแมวซึ่งอาจส่งผ่านจากตัวคุณไปสู่เด็กในครรภ์ได้
หากคุณฝึกลูกแมวหรือแมวโตขับถ่ายแล้ว แต่สังเกตเห็นว่าพวกเขายังคงปัสสาวะในบริเวณอื่นของบ้าน นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว หรือ FLUTD (Feline Lower Urinary Tract Disease) ปัญหาสุขภาพนี้อาจสร้างความเจ็บปวดและเป็นอันตรายต่อแมวได้ ควรปรึกษาสัตวแพทย์หากมีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
สิ่งสำคัญในการฝึกลูกแมวคือ ต้องสอนให้แมวรู้ขอบเขตพื้นที่ที่เขาสามารถข่วนเกาได้ จะได้ไม่ต้องเจอกับปัญหาโซฟามีแผล
เสาลับเล็บที่นำมาให้แมวใช้ควรทำจากวัสดุที่เหมาะให้แมวฝนเล็บ แต่เจ้าของอาจต้องสอนวิธีใช้ให้เขาสักหน่อย เริ่มจากการนำเสาลับเล็บมาให้ดู จากนั้นก็นำของเล่นมาห้อยกับเสาเพื่อกระตุ้นให้แมวสนใจ ทันทีที่กรงเล็บปะทะกับเสา แมวจะรู้ทันทีว่าต้องทำอย่างไรต่อไป
คุณอาจจับขาหน้าของแมวเบา ๆ แล้วทำท่าเกาขึ้นลงกับเสา เป็นการสอนให้แมวรู้วิธีใช้เสาลับเล็บ จากนั้นปล่อยให้แมวลองเองสักพัก ลองใส่กัญชาแมวเล็กน้อยลงบนเสาเพื่อดึงดูดให้แมวเข้าหา
เมื่อแมวเริ่มใช้ที่ลับเล็บ อย่าลืมเอ่ยปากชมเขาเยอะ ๆ กลิ่นของแมวจากการลับเล็บครั้งก่อนจะติดอยู่ที่เสาและจะดึงดูดแมวให้กลับมาที่เสานี้อีกในอนาคต
ลูกแมวก็เหมือนเด็กเล็กที่เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ความตื่นเต้น และพลังงานอันล้นเหลือ ทำให้แมวมักไม่ค่อยยอมอยู่นิ่ง ๆ ที่ใดที่หนึ่ง หรืออาจกระสับกระส่ายเมื่อถูกอุ้มไม่ว่าเขาจะชื่นชอบคุณมากเพียงใดก็ตาม แมวโตที่คุณรับมาเลี้ยงก็เช่นเดียวกัน เมื่อแมวเริ่มคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและครอบครัวใหม่แล้ว แมวมักต้องการสำรวจสิ่งของรอบตัวเพื่อเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ก่อนจะหลับผล็อยไปบนตักของคุณ
ให้เวลาแมวได้เติบโตหรือปรับตัว โดยไม่อุ้มหรือบังคับให้พวกเขาอยู่นิ่ง ๆ หากเขาไม่ต้องการ ให้เวลา ความเข้าใจ และประนีประนอมกับแมวสักหน่อย แล้วเขาก็จะหันมาอิงแอบคุณเองในไม่ช้า