อาการแพ้อาหารของแมวนั้นเกิดขึ้นได้ยากแต่คนมักจะสับสนกับอาการที่พบได้ทั่วไปอย่างเช่นปัญหาเรื่องการย่อยยากซึ่งมีอาการรุนแรงน้อยกว่า บทความนี้รวบรวมวิธีการสังเกตอาการแมวแพ้อาหาร รวมถึงวิธีดูแลให้แมวกลับมาสุขภาพดี มีความสุข อย่างที่เคยเป็น
อาการแพ้อาหารของแมวคืออะไร?
การแพ้อาหารของแมวจะเกิดขึ้นเมื่อได้กินอาหารบางชนิด แม้จะเป็นปริมาณเพียงนิดเดียว เช่น เนื้อวัว ผลิตภัณฑ์จากนม หรือ ปลา และถึงแม้ว่าการแพ้อาหารจะพบได้บ่อยในลูกแมว แต่กับแมวโตก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นการตรวจสุขภาพจึงจำเป็นสำหรับแมวทุกช่วงวัย
การตรวจอาการแพ้อาหารของแมวทำได้ค่อนข้างยาก เพราะไม่มีชุดตรวจ อาการก็ไม่ตายตัว และปัจจัยที่กระตุ้นก็เกิดได้จากหลายอย่าง
คนมักเข้าใจผิดบ่อย ๆ ว่าอาการแมวแพ้อาหารเป็นอาการของโรคอื่น ดังนั้นการสอบถามสัตวแพทย์ก่อนปรับเปลี่ยนอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณรักษาได้ถูกจุด ไม่ได้เอาอาการของโรคอื่น ๆ มารวมกัน
อาการแมวแพ้อาหารมีสัญญาณเตือนอะไรบ้าง?
อาการแมวแพ้อาหาร โดยทั่วไปจะมีลักษณะดังนี้
- ผิวหนังผิดปกติ อาจมีอาการคันหรือรอยแดง ขนร่วง หรือผิวหนังลอกจากการเกา
- หูติดเชื้อบ่อย
- ปัญหาก้อนขนในทางเดินอาหาร เนื่องจากแมวมีอาการคันมากจนต้องเกาหรือเลียขนตัวเองบ่อย ๆ
- ปัญหาที่กระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น การอาเจียนหรือท้องเสีย
- ปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ (พบได้ยาก)
แม้สาเหตุของอาการคันอาจเกิดจากการแพ้ แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากการเลียทำความสะอาดขนมากเกินไปหรือเป็นผลข้างเคียงจากน้ำลายหมัด ดังนั้น ไม่ควรรักษาอาการแพ้โดยไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด
เมื่อสัตวแพทย์คัดกรองอาการของโรคอื่น ๆ ออกได้ ก็จะแนะนำให้ทำการทดสอบอาหารบางชนิดที่แมวอาจจะแพ้หรือมีอาการย่อยยาก การทดสอบนี้ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากสัตวแพทย์ เพื่อให้แมวยังคงได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่องร่างกาย
สัตวแพทย์จะตรวจสอบอาการแมวแพ้อาหารได้อย่างไร?
หากสัตวแพทย์สงสัยว่าแมวของคุณแพ้อาหารบางอย่าง ก็จะแนะนำให้ลองงดอาหารบางชนิด ในช่วงนี้คุณต้องให้อาหารอ่อน ๆ หรืออาหารที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ ซึ่งมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบเพียงเล็กน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้
ทั้งนี้ สัตวแพทย์จะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาการงดเว้นอาหาร ซึ่งจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอาการของแมว เช่น ถ้าแมวมีปัญหาผิวหนัง สัตวแพทย์ก็อาจจะจำกัดอาหารบางชนิดเป็นเวลา 4 ถึง 12 สัปดาห์ หรืออาจจะนานกว่านั้น ซึ่งถ้าหากแมวของคุณเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือลำไส้ อาการก็จะดีขึ้นได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ
ในช่วงทดลองงดอาหารบางชนิด ไม่ควรให้แมวกินอะไรอย่างอื่นแม้แต่นิดเดียว และกำชับสมาชิกในบ้าน ให้งดการให้ขนมแมว และแข็งใจแม้แมวจะอ้อนสุด ๆ ก็ตาม หากเคยเลี้ยงแมวในที่แจ้งก็ควรกักตัวไว้ในบ้านช่วงหาสารก่อภูมิแพ้ เพราะถ้าแมวไปจับหนูกินการทดลองก็จะไม่เห็นผล
การที่จะให้แมวกินอาหารตามแบบแผนที่กำหนด เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความอดทนและใช้ความตั้งใจสูง หากการทดลองล้มเหลว ควรบอกสัตวแพทย์ไปตามตรง เพราะข้อมูลทุกอย่างล้วนสำคัญ รวมถึงการที่แมวไม่ยอมกินอาหารอ่อน ๆ ด้วย
หลังจบการทดลอง
หลังการทดลองจบลง สัตวแพทย์จะตรวจดูว่าสุขภาพแมวเป็นอย่างไร และประเมินผลว่าอาหารชนิดใหม่ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอาการแมวแพ้อาหาร ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือยังเหมือนเดิม หากอาการไม่ดีขึ้น ก็มีโอกาสสูงที่สัตว์เลี้ยงของคุณจะไม่ได้มีอาการแพ้อาหาร สัตวแพทย์ก็จะสันนิษฐานอาการของโรคอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ต่อไป
หากอาการดีขึ้น ก็นับเป็นข่าวดีสำหรับเจ้าของและแมว สัตวแพทย์จะอธิบายขั้นตอนรักษาขั้นต่อไปโดยอิงจากอาการของแมว อาจมีการเพิ่มสัดส่วนโปรตีนในอาหารให้แมวทีละนิด และติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด หากอาการแพ้กลับมาหลังกินอาหาร ก็สามารถฟันธงได้เลยว่าสิ่งนี้แหละที่ทำให้แมวแพ้
เจ้าของจะต้องหาอาหารสูตรใหม่ที่ให้สารอาหารครบถ้วน ได้สัดส่วน และไม่มีส่วนประกอบของอาหารที่แมวแพ้ โดยอาจจะให้แมวกินช่วงสั้น ๆ หรือให้ในระยะยาวก็ได้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การหาอาหารสูตรใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะอาการแมวแพ้อาหารอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์ และควรเลี่ยงการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ขั้นตอนนี้อาจฟังดูยาก แต่ในท้ายที่สุด ถ้าสัตวเลี้ยงของคุณกลับมามีความสุขกับการกินอาหารแสนอร่อยโดยไม่ต้องกังวลกับการแพ้อาหาร ก็ถือว่าความพยายามของคุณคุ้มค่าแล้ว
หากคุณกังวลว่าแมวของคุณมีอาการแพ้อาหาร ควรติดต่อขอคำปรึกษาจากสัตวแพทย์โดยตรง