Your Pet, Our Passion.
สุนัขเคี้ยวอะไรได้
ฝึกสุนัข

ฝึกสุนัขอย่างไร ให้ฉลาดเชื่อฟังพร้อมๆ ไปกับแข็งแรงและรูปร่างดี

8 นาที
ฝึกสุนัข

ฝึกสุนัขอย่างไร ให้ฉลาดเชื่อฟังพร้อม ๆ ไปกับแข็งแรงและ
รูปร่างดีด้วย

การฝึกสุนัขเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเลี้ยงสุนัข เพราะถ้าเราทราบวิธีฝึกสุนัขอย่างถูกต้องจะทำให้สุนัขรู้จักการมีวินัย เชื่อฟัง และไม่สร้างพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น กัดแทะทำลายสิ่งของ หรือขับถ่ายไม่เป็นที่ ทำให้เรากับสุนัขสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

แต่การฝึกสุนัขนั้นนอกจากเรื่องระเบียบวินัยและการฝึกนิสัยแล้ว เรายังสามารถมีวิธีฝึกสุนัขให้ฉลาดเชื่อฟังไปพร้อม ๆ กับการทำให้ร่างกายสุนัขแข็งแรงและรูปร่างดีได้อีกด้วย เรียกได้ว่าได้ประโยชน์สองต่อกันไปเลย หลายคนคิดว่าเราไม่สามารถใช้วิธีฝึกสุนัขไปพร้อม ๆ กับการออกกำลังกายได้ แต่จริง ๆ แล้วอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะเราสามารถปรับการออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กับการฝึกนิสัยและลับสมองของสุนัขได้พร้อม ๆ กัน รวมไปถึงการออกกำลังกายยังช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน ช่วยระบบย่อยอาหาร และช่วยให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้สุนัขของคุณนอกจากจะมีความฉลาดแสนรู้แล้วยังทำให้สุนัขแข็งแรง และมีรูปร่างดีสมวัย

วิธีฝึกสุนัขให้ฉลาดเชื่อฟัง และแข็งแรงรูปร่างดีไปพร้อม ๆ กัน

ฝึกสุนัข

1. จูงเดินออกกำลังกาย

การออกกำลังกายด้วยการจูงเดินถือเป็นวิธีฝึกสุนัขและการออกกำลังกายพื้นฐานที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะเป็นการฝึกที่ทำได้ง่ายและทำได้แทบทุกวัน การจูงเดินเป็นการออกกำลังกายเบาๆ ที่สุนัขทุกตัวสามารถทำได้และเป็นการฝึกขั้นต้นก่อนที่จะให้สุนัขไปออกกำลังกายชนิดอื่นด้วย โดยเคล็ดลับของการจูงสุนัขเดินออกกำลังกายอย่างแรกคือให้สุนัขใส่สายจูงและเราควรจูงเดินนำหน้าเสมอ เพื่อที่เขาจะได้เข้าใจว่าเราเป็นจ่าฝูง สุนัขจะยอมรับและเชื่อฟังเรามากขึ้น พยายามไม่ให้เราถูกสุนัขลากหรือให้สุนัขวิ่งนำไปที่ต่าง ๆ ตามใจชอบ

อีกทั้งการจูงเดินออกกำลังกายนอกบ้านยังเป็นการฝึกทักษะการเรียนรู้สังคม ทำให้จิตใจเข้มแข็ง ไม่กลัวคนแปลกหน้า เสียงรถ และสุนัขตัวอื่น ๆ เพราะมีการพบว่าสุนัขที่คุ้นเคยกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมนอกบ้านจะมีระดับความก้าวร้าวลดลง โดยในช่วงแรกหากสุนัขกลัวอาจจะต้องให้เวลาเขาในการเรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมแปลกใหม่ซักระยะ เช่น ให้เขาได้ลองดม หรือเดินสำรวจ โดยอาจจะเริ่มจากไม่เข้าใกล้มาก ก่อนที่จะค่อยๆ ขยับเข้าไปใกล้และใช้เวลามากขึ้นเรื่อย ๆ

ฝึกสุนัข

2. ว่ายน้ำ

การว่ายน้ำถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีชนิดหนึ่งสำหรับสุนัข เพราะเมื่อสุนัขอยู่ในน้ำจะสามารถลอยตัวและทำให้ข้อต่อไม่ต้องทำงานหนักเหมือนกับการวิ่งหรือเดินบนพื้น ดังนั้นการว่ายน้ำจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดความอ้วนในสุนัขที่มีน้ำหนักมากที่มีปัญหาเรื่องข้อต่อ อีกทั้งในขณะที่ว่ายน้ำร่างกายทุกส่วนของสุนัขจะต้องออกแรงมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับแรงหน่วงของน้ำ ทำให้เป็นการสร้างกล้ามเนื้อสุนัขได้เป็นอย่างดี และเป็นเหตุผลเดียวกันว่าทำไมนักกีฬาว่ายน้ำถึงได้รูปร่างดีนั่นเอง ดังนั้นถ้าอยากให้สุนัขรูปร่างดี เจ้าของก็ควรพาไปว่ายน้ำเป็นประจำ

ในระหว่างการว่ายน้ำ เราอาจสอดแทรกวิธีฝึกสุนัขไปด้วย โดยเราอาจใช้ลูกบอลโยนให้สุนัขว่ายน้ำไปคาบกลับมา วิธีนี้จะทำให้สุนัขรู้สึกสนุกและฝึกการตอบรับคำสั่งจากเราได้ด้วย ส่วนสิ่งที่ควรระวังสำหรับการว่ายน้ำคือควรใส่ชูชีพก่อนลงสระโดยเฉพาะเมื่อสุนัขไม่เคยว่ายน้ำมาก่อนเลยเพื่อป้องกันการจมน้ำ และควรให้ยากำจัดเห็บหมัดและฉีดวัคซีนครบเพื่อสุขอนามัยที่ดีต่อสุนัขตัวอื่นด้วย

ฝึกสุนัข

3. ฝึกความปราดเปรียว

การฝึกความปราดเปรียวนั้นทำได้โดยเลือกสถานที่เหมาะสม ซึ่งควรเป็นที่โล่งกว้าง เช่น สนามหญ้า แล้วให้สุนัขวิ่งจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง โดยอาจตั้งกรวยยางให้สุนัขได้วิ่งหลบซิกแซก หากมีอุปกรณ์มากพออาจจะให้วิ่งขึ้นทางลาด หรือกระโดดข้ามรั้วสิ่งกีดขวาง การฝึกความปราดเปรียวเป็นสิ่งที่สุนัขจะรู้สึกสนุกมาก ทำให้กล้ามเนื้อสุนัขแข็งแรง และยังช่วยให้พวกเขากระฉับกระเฉงและชอบการออกกำลังกาย เราจะพบว่าสุนัขของเราตื่นตัวและตอบรับต่อคำสั่งมากขึ้น ไม่ซึมหรือดูง่วงนอนตลอดเวลา อีกทั้งการฝึกความปราดเปรียวยังช่วยลับสมองและการโต้ตอบฉับพลันอีกด้วย ส่งผลให้พวกเขาเรียนรู้ได้ไวขึ้น

สิ่งเดียวที่ต้องระวังคือเรื่องของอุณหภูมิและระยะเวลาของการฝึก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่อากาศค่อนข้างร้อนตลอดทั้งปี การฝึกที่นานเกินไปอาจจะทำให้สุนัขขาดน้ำหรือเป็นลมแดดได้ หลีกเลี่ยงการฝึกความปราดเปรียวในช่วงเวลาอากาศร้อนจัด เช่น ช่วงเที่ยงหรือบ่าย และดูสภาพร่างกายของสุนัขอยู่เสมอ

ฝึกสุนัข

4. ออกกำลังกายด้วยเวลาที่เหมาะสม

หลายคนอาจคิดว่าเราควรให้สุนัขออกกำลังกายมาก ๆ และนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่การออกกำลังกายที่มากเกินไปนอกจากจะไม่สร้างผลดีต่อตัวสุนัขแล้ว ยังอาจทำให้เกิดผลเสียอีกด้วย การให้สุนัขออกกำลังกายที่มากเกินจะทำให้ร่างกายสุนัขทำงานหนัก จนอาจทำให้เกิดภาวะลมแดดหรือช็อกได้ นอกจากนี้การออกกำลังกายที่มากเกินไปจะทำให้มวลกล้ามเนื้อสุนัขถูกสลายเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงาน ทำให้แทนที่สุนัขจะมีรูปร่างดีกลับทำให้ร่างกายทรุดโทรมแทน อีกทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงโน้มนำทำให้เกิดปัญหากระดูกและไขข้ออักเสบอีกด้วย

ดังนั้นเราจึงควรปรับเวลาฝึกให้เหมาะสมกับสุนัขของเรา ในเบื้องต้นสุนัขโตพันธุ์เล็กวัยควรออกกำลังกายประมาณวันละ 15-30 นาที แล้วแต่สภาพร่างกายและอากาศ สุนัขโตเต็มวัยพันธุ์กลางอยู่ที่ประมาณ 30-45 นาที ส่วนสุนัขโตพันธุ์ใหญ่อยู่ที่ประมาณ 45-60 นาที การฝึกออกกำลังกายแต่พอดีจะทำให้สุนัขแข็งแรงและสนุก ในทางกลับกันถ้าเราฝืนให้สุนัขออกกำลังกายมากไปจะทำให้สุนัขเกิดอาการต่อต้านไม่อยากออกกำลังกายและกลายเป็นนิสัยที่ไม่เชื่อฟังเราขึ้นมาได้

ฝึกสุนัข

5. ควบคุมอาหาร

สุขภาพที่แข็งแรงและรูปร่างที่ดีเริ่มต้นได้ที่เรื่องอาหาร ต้องบอกว่าคำกล่าวนี้ถูกต้องมาก ๆ เลยทีเดียว แต่การควบคุมอาหารนั้นยังช่วยฝึกให้สุนัขมีระเบียบได้อีกด้วย มีสุนัขจำนวนมากถูกเจ้าของตามใจเรื่องอาหารจนเสียนิสัย ถ้าสุนัขเริ่มเรียนรู้ว่าอ้อนเจ้าของหรือเห่าเรียกร้องความสนใจแล้วจะได้อาหารที่เขาต้องการ สุนัขจะทำพฤติกรรมนั้นเรื่อย ๆ และอาจพัฒนาไปเป็นการขโมยอาหารบนโต๊ะได้

ในแง่ของสุขภาพการให้สุนัขกินตามใจหรือการแบ่งอาหารคนให้สุนัขกินนั้นทำให้ร่างกายสุนัขได้รับอาหารที่ไม่ครบถ้วนและสมดุล สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ดังนั้นจึงควรให้อาหารสุนัข 2 มื้อต่อวันและกำหนดเวลาในการกินในแต่ละมื้อ ถ้าสุนัขไม่ยอมกินเมื่อครบเวลาแล้วให้ยกชามอาหารออก สุนัขจะเรียนรู้ได้ว่าต้องกินอาหารตามเวลา ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่ได้กิน และไม่ควรใจอ่อนให้อาหารเมื่อสุนัขร้องขอโดยไม่มีเหตุผล

ฝึกสุนัข

โภชนาการที่เหมาะสม ให้ฉลาดเชื่อฟัง มีรูปร่างดี กล้ามเนื้อแข็งแรง

1. ให้ปริมาณโปรตีนที่มีคุณภาพสูงในปริมาณที่สมดุล

โปรตีนเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานสำคัญในสุนัข แต่การให้อาหารที่มีโปรตีนสูงเกินไปหรือโปรตีนต่ำเกินไปล้วนสร้างผลเสียต่อร่างกายสุนัขด้วยกันทั้งสิ้น โปรตีนที่สุนัขควรได้รับควรเป็นโปรตีนคุณภาพสูงที่ย่อยง่าย มีปริมาณกรดอะมิโนที่ครบถ้วนและเพียงพอ ปริมาณโปรตีนในอาหารที่สุนัขต้องการนั้นแตกต่างกันออกไปในแต่ละสายพันธุ์และกิจกรรมที่ทำ แต่พื้นฐานแล้วทางองค์กร Association of American Feed Control Officials (AFFCO) ได้กำหนดให้อาหารแบบแห้งสำหรับสุนัขโตมีโปรตีนรวมขั้นต่ำ 18 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นอาหารที่เราให้สุนัขที่ชอบออกกำลังหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งบ่อย ๆ ควรมีปริมาณมากกว่านี้ การให้สุนัขได้ทานอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูงและสมดุลนั้นจะช่วยให้สุนัขตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า ช่วยให้สามารถฝึกและเรียนรู้ได้ง่ายมากขึ้น อีกทั้งโปรตีนยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของกล้ามเนื้อสุนัข ทำให้สุนัขมีรูปร่างดีและแข็งแรง

ถ้าสุนัขได้รับอาหารที่มีปริมาณโปรตีนต่ำเกินไป จะทำให้ร่างกายทรุดโทรม ผอมแกร็น ประสาทเฉื่อยชา ทำให้ฝึกได้ยากยิ่งขึ้น ในทางกลับกันหากสุนัขได้รับอาหารที่มีโปรตีนสูงเกินไปซึ่งมักมีแคลอรี่สูง จะส่งผลทำให้สุนัขมีแนวโน้มอ้วนได้ง่าย และอุจจาระมีกลิ่นเหม็นกว่าปกติ

2. ลดปริมาณคาร์โบไฮเดรต

แม้ว่าสุนัขจะเป็นสัตว์ที่สามารถกินและย่อยคาร์โบไฮเดรตเพื่อให้เป็นพลังงานได้ แต่หากอาหารแต่ละมื้อของสุนัขมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากไปจะเป็นการกระตุ้นฮอร์โมนอินซูลินออกมาเพื่อลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดและส่งผลทำให้สุนัขเกิดอาการง่วงนอนหรือไม่กระฉับกระเฉงขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับในมนุษย์ที่มักง่วงนอนหลังอาหารมื้อเที่ยงและมื้อเย็นนั่นเอง ดังนั้นเพื่อให้สุนัขมีความกระฉับกระเฉง ควรปรับปริมาณคาร์โบไฮเดรตในอาหารแต่ละมื้อให้ต่ำลง หรือเลือกอาหารสุนัขคุณภาพสูงที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่เหมาะสมแทน อีกทั้งคาร์โบไฮเดรตเมื่อสุนัขทานเข้าไปแล้วใช้ไม่หมดจะเปลี่ยนเป็นไขมัน ส่งผลทำให้อ้วนได้ง่ายอีกด้วย

3. DHA (Docosahexaenoic acid) เสริมสร้างสมองที่ฉับไว

DHA หรือ Docosahexaenoic acid เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบประสาทและสมอง มีหน้าที่ช่วยในการทำงานของสมอง ส่งผลให้สมองสามารถรับ-ส่งกระแสประสาทได้ดีขึ้น มีการทดลองโดย Hoffman และคณะ ในปี ค.ศ. 2005 พบว่าการเพิ่มปริมาณ DHA ในอาหารของลูกสุนัขบีเกิ้ล จะช่วยให้ลูกสุนัขเรียนรู้ได้ดีมากกว่าและทำคะแนนในการทดสอบต่าง ๆ ในการทดลองได้ดีมากกว่าลูกสุนัขที่ได้รับ DHA ปริมาณต่ำ2, 3

DHA นั้นเป็นกลุ่มกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหนึ่งของกรดไขมันโอเมก้า-3 ดังนั้นถ้าอยากเพิ่มปริมาณ DHA ให้กับสุนัขของคุณอาจทำได้โดยเพิ่มปริมาณกรดไขมันโอเมก้า-3 ในอาหารแต่ละมื้อหรือเลือกอาหารที่มีส่วนผสมของกรดไขมันโอเมก้า-3

4. Tryptophan : สารเสริมเพื่อช่วยในการเรียนรู้ของสุนัข

Tryptophan เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่เป็นสารตั้งต้นของฮอร์โมน Serotonin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความสุขและลดความเครียด การที่อาหารมีปริมาณ Tryptophan สูงจะมีส่วนช่วยให้สุนัขลดอาการก้าวร้าวดุร้ายและไม่เครียดง่ายได้ดีมากขึ้น2,4 ซึ่งส่งผลดีต่อการฝึกและการเรียนรู้ของสุนัข โดย Tryptophan นั้นถือเป็นกรดอะมิโนจำเป็นของสุนัข โดยสุนัขไม่สามารถสังเคราะห์กรดอะมิโนชนิดนี้ขึ้นมาได้เอง จำเป็นต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น ดังนั้นจึงควรเลือกอาหารสุนัขที่มีส่วนผสมของ Tryptophan ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้สุนัขแข็งแรงสุขภาพดีและเพิ่มศักยภาพในการฝึกและเรียนรู้ได้ดีมากขึ้น

5. Glucosamine และ Chondroitin Sulfate : คู่หูเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและข้อต่อ

Glucosamine (กลูโคซามีน) และ Chondroitin Sulfate เป็นสองสารเสริมที่ช่วยในการบำรุงข้อต่อและกระดูกสุนัข โดย Glucosamine มีหน้าที่ช่วยในการสร้างกระดูกอ่อนและคอลลาเจนของข้อต่อ และมีส่วนช่วยในการลดการอักเสบได้ ส่วน Chondroitin Sulfate มีหน้าที่คอยยับยั้งเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายกระดูกอ่อนและน้ำในไขข้อ จะเห็นว่าสารทั้งสองตัวนี้คอยทำหน้าที่ช่วยเสริมซึ่งกันและกัน และทั้งสองยังมีหน้าที่ช่วยในการสร้าง Glycoaminoglycan และ Proteoglycan ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของกระดูกอ่อนอีกด้วย ดังนั้นทั้ง Glucosamine และ Chondroitin Sulfate จึงมีหน้าที่สำคัญในการสร้างและบำรุงข้อต่อสุนัขให้สมบูรณ์แข็งแรง

สำหรับสุนัขที่ชอบออกกำลังกายและต้องการให้แข็งแรงกระฉับกระเฉงควรเลือกอาหารที่มีทั้ง Glucosamine และ Chondroitin Sulfate ในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้สุนัขแข็งแรงปราดเปรียว กระโดดหรือวิ่งได้อย่างไม่มีปัญหา นอกจากนี้ในท้องตลาดยังมีผลิตภัณฑ์เสริมของสารสองตัวนี้ให้ใช้เพิ่มอีกด้วย ถ้าเจ้าของสุนัขสนใจอาจจะลองปรึกษาสัตวแพทย์ว่าจำเป็นหรือสามารถให้เพิ่มได้หรือไม่ รวมไปถึงแคลเซียมสุนัข ซึ่งโดยปกติหากเลือกอาหารสุนัขที่มีคุณภาพมักจะมีปริมาณแคลเซียมในอาหารเพียงพออยู่แล้ว อย่างไรก็ดีก่อนเสริมแคลเซียมสุนัขควรปรึกษาสัตวแพทย์อย่างละเอียดอีกครั้ง ไม่ควรเสริมแคลเซียมให้สุนัขเอง เพราะสุนัขอาจจะได้รับแคลเซียมมากเกินไปจนเกิดการเจริญกระดูกและข้อต่อผิดปกติตามมาได้

ฝึกสุนัข

สรุป

การฝึกสุนัขให้ฉลาดเชื่อฟังและแข็งแรงรูปร่างดีนั้น หัวใจอยู่ที่การฝึกออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมรวมทั้งความเข้าใจถึงสารอาหารที่สุนัขต้องการ สุนัขจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและสมดุล การได้รับสารอาหารตัวใดตัวหนึ่งมากหรือน้อยเกินไปส่งผลทำให้สุนัขมีสุขภาพที่แย่ลง ทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้ฝึกได้ยาก เรียนรู้ช้า และร่างกายไม่กระฉับกระเฉงอย่างที่เคย

เมื่อเรื่องอาหารสำคัญขนาดนี้ เราจึงควรเลือกอาหารให้สุนัขอย่างตั้งใจเพื่อให้เขาได้รับสิ่งที่ดีที่สุด PRO PLAN® สูตร Performance ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสุนัขที่ต้องการพลังงานสูงและระดับกิจกรรมมากโดยเฉพาะ อาหารสูตรนี้มีส่วนผสมของโปรตีนและไขมันสูงมากพอกับความต้องการ เพื่อเพิ่มความทนทานรองรับระดับกิจกรรมสูง, ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและฟื้นฟูสมรรถภาพหลังจากการออกกำลังกาย และยังมีสารอาหารที่ช่วยเรื่องของข้อต่อให้มีสุขภาพดีเพื่อเสริมการเคลื่อนไหวที่แข็งแรง ให้สุนัขสามารถลุยได้เต็มที่ได้ในทุกกิจกรรม เพราะสุนัขบางสายพันธุ์เหมาะกับการฝึกและทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย จึงต้องได้รับสารอาหารที่ให้พลังงานมากกว่าอาหารสูตรปกติ เพื่อที่นอกจากจะให้พวกเขาแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่แล้ว ยังช่วยบำรุงร่างกายและทำให้ร่างกายมีรูปร่างดีตามแบบฉบับของแต่ละสายพันธุ์อีกด้วย

เพียงแค่ให้ PRO PLAN® สูตร Performance แล้ว รับรองว่าสุนัขของคุณจะเป็นสายลุยแค่ไหน ออกกำลังกายหนักยังไง พวกเขาก็ยังได้รับสารอาหารที่เพียงพอและมีรูปร่างดี ไปพร้อม ๆ กับสมองที่แจ่มใสและฉลาดเชื่อฟังอย่างแน่นอน และอาหารสูตรนี้ยังมีคุณค่าทางอาหารสูง เหมาะสำหรับสุนัขตั้งท้องและสุนัขให้นมอีกด้วย

อ้างอิงข้อมูล

1. Ashley Gallagher. The Dangers of High Protein Dog Foods. 20 Aug, 2013. Availiable online : https://www.petmd.com/dog/centers/nutrition/evr_dg_dangers_of_high_protein_dog_foods

2. Bosch G, Beerda B, Hendriks WH, van der Poel AF, Verstegen MW. Impact of nutrition on canine behaviour: current status and possible mechanisms. Nutr Res Rev. 2007;20(2):180-194.

3. Hoffman L, Kelley R, Waltz D. For smarter, more trainable puppies: Effect of docosahexaenoic acid on puppy trainability. IAMS Company, 2007

4. DeNapoli JS, Dodman NH, Shuster L, Rand WM, Gross KL. Effect of dietary protein content and tryptophan supplementation on dominance aggression, territorial aggression, and hyperactivity in dogs. J Am Vet Med Assoc. 2000;217(4):504-508

5. Bhathal A, Spryszak M, Louizos C, Frankel G. Glucosamine and chondroitin use in canines for osteoarthritis: A review. Open Vet J. 2017;7(1):36-49.