หากคุณสังเกตเห็นว่าขนสุนัขเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวหงอก และเคลื่อนไหวเชื่องช้าลง นั่นเป็นสัญญาณว่าสุนัขของคุณเริ่มเป็นสุนัขสูงวัยแล้ว
สุนัขจะเริ่มเป็นสุนัขสูงวัยเมื่อใด?
สุนัขจะค่อย ๆ แก่ตัวลงเหมือนกับมนุษย์เรา ไม่มีการกำหนดชัดเจนว่าสุนัขจะเริ่มเป็นสุนัขสูงวัยเมื่อใด แต่ส่วนใหญ่ถ้าสุนัขอายุ 5 - 9 ปี จะถือเป็นสุนัขสูงวัย โดยอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ซึ่งปกติแล้วสุนัขพันธุ์เล็กจะมีอายุขัยที่ยืนยาวกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่
สุนัขพันธุ์ใหญ่มักจะแสดงสัญญาณความเป็นสุนัขสูงวัยก่อนสุนัขพันธุ์เล็กที่อายุยืนกว่า และจะเข้าสู่ช่วงสูงวัยเมื่ออายุ 8 - 9 ปี
การที่สุนัขสูงวัยจะมีชีวิตที่ยืนยาวได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิต ทั้งอาหาร การออกกำลังกาย และประวัติการรักษา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือช่วงบั้นปลายชีวิตของสุนัข คือการได้ใช้เวลาร่วมกันกับคุณและจะเป็นความทรงจำที่เปี่ยมคุณค่า ทั้งคุณและสุนัขจะเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตมากตามอายุที่เพิ่มขึ้น
บทความนี้ได้รวบรวมคำแนะนำที่ช่วยส่งเสริมชีวิตบั้นปลายของสุนัขให้เปี่ยมด้วยความทรงจำดี ๆ
การใช้ชีวิตภายในบ้าน
สุนัขชอบกลิ้งบนที่นอนนุ่มๆ กว้างสบายเหมือนกับมนุษย์เรา โดยเฉพาะสุนัขสูงวัยที่มีปัญหาเรื่องข้อต่อ ควรจัดเตรียมที่นอนไว้ในบ้าน บริเวณที่อากาศอบอุ่น เงียบสงบ ไม่โดนลมเย็นพัดผ่าน และต้องมีถ้วยใส่น้ำสะอาดวางไว้ใกล้ ๆ สุนัขจะได้ไม่ต้องเสียเวลาหา หรือเดินขึ้นลงบันไดโดยไม่จำเป็น
เวลาพาสุนัขไปเดินเล่น ทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน สุนัขสูงวัยก็จะไม่คล่องแคล่วเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ข้อต่อที่เสื่อมลงจะทำให้สุนัขกระโดดขึ้นลงรถไม่ได้เหมือนเก่า คุณอาจต้องอุ้มสุนัขพันธุ์เล็กขึ้นรถ หรือวางพาดทางลาดให้สุนัขพันธุ์ใหญ่
สิ่งสำคัญสำหรับสุนัขสูงวัยคือต้องระวังน้ำหนักเกิน เพราะจะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา นอกจากคุมอาหารแล้ว ก็ต้องดูแลให้สุนัขได้ออกกำลังกายเป็นประจำ สัตวแพทย์สามารถให้คำแนะนำได้ทั้งการเลือกอาหารที่เหมาะสม และวิธีการออกกำลังกายสำหรับสุนัขสูงวัยที่อาจมีโรคประจำตัวอย่าง โรคข้อต่อเสื่อม
เมื่อสุนัขแก่ตัวลง ควรมีกิจวัตรประจำวันที่สม่ำเสมอ เพราะสำคัญต่อทั้งสุขภาพกายใจ และเพื่อให้อารมณ์ดีอยู่เสมอ
หากประสาทหูของสุนัขเสื่อมลง ควรหลีกเลี่ยงทำกิจกรรมที่ทำให้สุนัขตกใจ เช่น เวลาที่สุนัขนอนอยู่ ไม่ควรส่งเสียงดัง และถ้าสุนัขสายตาไม่ดีแล้ว ควรค่อยๆ เดินเข้าหา ไม่ส่งเสียงดัง เพื่อไม่ให้สุนัขตกใจ
เพราะทุกสิ่งล้วนแก่ตัวลง ดังนั้นคุณควรใจดีและอดทนกับสภาพร่างกายและจิตใจของสุนัขสูงวัยที่ไม่เหมือนเดิม การเป็นเจ้าของสุนัขที่ดีต้องมอบความรัก ความใส่ใจ ดูแลสุนัขอย่างที่เคยทำ เพื่อความทรงจำดีๆ ที่มีต่อกันเสมอมา การดูแลอย่างดีจากสัตวแพทย์และการปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน จะช่วยให้สุนัขสูงวัยได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสุขภาพดี มีความสุข
โภชนาการสำหรับสุนัขสูงวัย
ความต้องการที่เปลี่ยนแปลง
ในฐานะคนเลี้ยงสุนัขสูงวัย การเปลี่ยนโภชนาการให้สอดคล้องกับวัยที่เปลี่ยนไปถือเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่ช่วงอายุ 7 ปีเป็นต้นไป (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) สุนัขจะเริ่มใช้ชีวิตเรียบง่ายขึ้น สุนัขสูงวัยมักจะกระตือรือร้นน้อยลง มีระบบเผาผลาญด้อยลง ทำให้ไม่ต้องการปริมาณแคลอรี่มากเหมือนตอนอายุน้อย เพราะเมื่อร่างกายทำงานช้าลงก็จะใช้พลังงานน้อยลงตาม โอกาสที่จะมีไขมันสะสมตามร่างกายก็เพิ่มขึ้น อาหารคุณภาพดี มีโปรตีนที่ย่อยง่าย จะช่วยให้สุนัขสูงวัยรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ได้
อาหารที่ออกแบบมาเพื่อสุนัขสูงวัยจะตอบโจทย์ด้านความต้องการโภชนาการที่เปลี่ยนไป และมักทำมาให้เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความวิธีให้อาหารสุนัขสูงวัย
เบื่ออาหาร
ถ้าสุนัขสูงวัยดูไม่ค่อยอยากอาหาร ควรพาไปให้สัตวแพทย์ตรวจว่ามีอาการไม่สบายหรือไม่ วิธีแก้ก็อาจจะไม่ซับซ้อน แค่เริ่มให้อาหารในปริมาณน้อยลง แต่แบ่งเป็นมื้อย่อยหลายๆ มื้อ อาจจะลองเปลี่ยนรสชาติอาหารและสลับระหว่างอาหารเปียกหรืออาหารเม็ด หรือนำไปอุ่นเล็กน้อยให้กลิ่นหอมเตะจมูกก็ได้
ตรวจสุขภาพเป็นระยะ
เมื่อสุนัขแก่ตัวลง ก็มักจะมีปัญหาสุขภาพตามมา ไม่ต่างจากมนุษย์เรา การแก่ตัวอาจจะดูเป็นธรรมชาติของชีวิต แต่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ของสุนัขสูงวัยนั้นสามารถรักษาได้ การตรวจสุขภาพให้สุนัขเป็นระยะ เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดเพื่อสุขภาพที่ดีของสุนัขจวบจนเข้าสูงวัย
การตรวจสุขภาพเป็นระยะ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพของสุนัขสูงวัย จนสัตวแพทย์หลายท่านได้เปิดคลินิกพิเศษสำหรับสุนัขสูงวัย การพาสุนัขสูงวัยไปพบสัตวแพทย์จะมีการชั่งน้ำหนัก และตรวจสุขภาพโดยละเอียด หากสัตวแพทย์รู้สึกกังวลกับสุขภาพของสุนัข ก็อาจมีการตรวจเลือดหรือปัสสาวะเพื่อหาโรคประจำตัวที่มักเกิดกับสุนัขสูงวัย และสุนัขสูงวัยยังต้องได้รับวัคซีน กำจัดพยาธิและเห็บหมัดอย่างต่อเนื่อง
ผิวหนัง ขน และเล็บ
สุนัขสูงวัยโดยเฉพาะพันธุ์ขนยาว ต้องได้รับการดูแลขนเป็นพิเศษ อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งเพื่อสุขภาพที่ดีของผิวหนัง ขน และเล็บ
การอาบน้ำให้สุนัขเป็นประจำเป็นเรื่องดี แต่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษถ้าสุนัขมีปัญหาเรื่องข้อต่อ น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำอุ่น และอาบในสภาพแวดล้อมที่สบายๆ ผ่อนคลาย ควรหมั่นสังเกตเล็บ เพราะเมื่อสุนัขกระตือรือร้นน้อยลง การฝนเล็บตามธรรมชาติก็จะน้อยตาม หากสังเกตเห็นว่าสุนัขรู้สึกอึดอัดบริเวณอุ้งเท้า หรือมีเล็บขบ (อาการเดียวกับเล็บขบในมนุษย์) ก็ควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์
การตรวจสุขภาพฟัน
เมื่อสุนัขแก่ตัวลง แนวโน้มที่จะเป็นโรคเหงือกหรือมีหินปูนจะสูงขึ้น สุนัขสูงวัยจึงต้องได้รับการตรวจสุขภาพฟันเป็นระยะ เช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพทั่วไป
สัญญาณและอาการของความชรา
นอกจากการมอบความรักและอาหารดี ๆ การใส่ใจสังเกตสุขภาพของสุนัขก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อคอยดูแลให้สุนัขสุขภาพดี มีความสุขตลอดช่วงบั้นปลายชีวิต อาการต่าง ๆ ที่กล่าวไปคือสัญญาณของความชราที่คุณสังเกตได้ และสัตวแพทย์ก็พร้อมช่วยดูแล
หากสุนัขของคุณมีอาการตามที่กล่าวไว้ หรือถ้าคุณรู้สึกไม่สบายใจเวลาสุนัขมีอาการอาเจียน ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติ และไม่อยากออกกำลังกาย ให้ติดต่อเข้าพบสัตวแพทย์โดยด่วน