สุนัขแก่สูงวัยต้องระวังโรคอะไรบ้าง
เพราะสุขภาพของสุนัขคือเรื่องสำคัญ
แม้ว่าสุนัขจะเข้าสู่ช่วงอายุมากแล้ว หลายคนยังเห็นว่าแข็งแรงดี ภายนอกไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ก็อย่าเพิ่งได้วางใจ เพราะบางครั้งภายในร่างกายของพวกเขาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุจนไม่เหมือนเดิม โดยปกติแล้วเราจะนับว่าสุนัขเข้าสู่ช่วงสูงวัยได้ตั้งแต่อายุ 6-7 ปี โดยเฉลี่ย เมื่อสุนัขเข้าสู่ช่วงนี้แล้วเราควรสังเกตพวกเขามากขึ้น เพราะว่าพวกเขาเริ่มมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ มากขึ้นนั่นเอง
โดยปกติแล้วสุนัขที่เข้าสู่ช่วงสูงวัยมักจะเชื่องช้าลง ไม่กระฉับกระเฉงหรือพลังงานล้นเหลือเหมือนเมื่อสมัยยังเป็นวัยรุ่น บางครั้งอาจจะพบว่าสุนัขเวลานอนต่อวันเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในสุนัขสูงวัย แต่สัญญาณบางอย่างก็เป็นสิ่งที่เราควรระมัดระวังและใส่ใจมากขึ้น เช่น เบื่ออาหาร แน่นอนว่าเมื่อสุนัขอายุมากขึ้นย่อมมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคต่างๆ มากขึ้นด้วย ในสุนัขสูงวัยอาการผิดปกติต่างๆ อาจจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของที่ต้องคอยหมั่นสังเกต ถ้าเราสามารถพบอาการผิดปกติได้เร็ว ก็จะรักษาหรือป้องกันได้เร็ว ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
โรคในสุนัขสูงวัยนั้นมีอยู่หลายโรค โดยในบทความนี้เราขอเลือกโรคที่พบได้บ่อยมาให้เจ้าของสุนัขทุกท่านได้รู้จักกัน เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะของโรค วิธีการรักษาและการป้องกันอย่างถูกต้อง
โรคของสุนัขแก่สูงวัยที่ต้องระวังมีอะไรบ้าง
1. โรคข้ออักเสบ
โรคข้ออักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขสูงอายุ สาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายสร้างสารเสริมบำรุงกระดูกและข้อลดลง ทำให้เซลล์เนื้อเยื่อตรงบริเวณข้อเสื่อมสภาพลง ส่งผลให้สุนัขเคลื่อนไหวร่างกายไม่เป็นปกติ บางครั้งอาจจะเจ็บปวด เห็นได้ชัดในสุนัขพันธุ์ใหญ่และพันธุ์ยักษ์ เพราะข้อต่อต่างๆ ต้องรับน้ำหนักตัวมาก ทำให้อาจจะแสดงให้เห็นว่าสุนัขไม่อยากลุกเดินหรือขยับร่างกาย ถ้าเป็นหนักจะเห็นพบว่าสุนัขไม่ยอมใช้ขา เดินยกขา ข้อบวม เดินกระเผลก
แนวทางการรักษาของโรคนี้มีทั้งการรักษาทางยาและการทำกายภาพบำบัดร่วมกัน ขึ้นอยู่กับอาการของโรคว่าเป็นรุนแรงแค่ไหน โรคนี้หาวิธีป้องกันยาก แต่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงได้โดยควบคุมน้ำหนักไม่ให้สุนัขอ้วนมากเกินไป เพราะน้ำหนักมากถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคข้ออักเสบตามมาได้
2. โรคไตวายเรื้อรัง
โรคไตวายเรื้อรังเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขสูงอายุ สาเหตุเกิดจากไตค่อยๆ เสื่อมสภาพลงตามอายุที่มากขึ้น ทำให้ทำงานได้น้อยลง หน้าที่หลักของไตคือการกรองและขับของเสียออกในรูปปัสสาวะ การที่ไตทำงานได้น้อยลงทำให้ร่างกายสุนัขสะสมของเสียไว้ในร่างกายมากขึ้น โดยปกติแล้วเราจะสังเกตอาการของภาวะโรคไตวายเรื้อรังในช่วงเริ่มต้นได้ยาก เพราะว่ากว่าจะเริ่มแสดงอาการไตอาจจะลดการทำงานไปกว่า 75% แล้ว
วิธีหนึ่งที่เราสามารถตรวจพบโรคไตในสุนัขคือการพาสุนัขไปตรวจสุขภาพประจำปี โดยสุนัขอายุ 6 ปี ขึ้นไป เจ้าของอาจพาไปพบสัตวแพทย์ปีละ 1-2 หน เพื่อตรวจเลือดได้ เพราะหากไตเริ่มลดการทำงานลงแล้วสามารถตรวจพบได้ในการตรวจค่าเลือดต่างๆ และสัตวแพทย์จะได้วางแผนวินิจฉัยว่าเป็นโรคไตในสุนัขหรือไม่และหาแนวทางการรักษาต่อไป
อาการอื่นๆ ของโรคไตในสุนัขที่เห็นได้ชัดคือการกินน้ำมากและปัสสาวะมาก อ่อนเพลีย ซึม เบื่ออาหาร หากมีอาการเหล่านี้ร่วมกัน ให้รีบพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมทันที ยิ่งเจ้าของสังเกตเห็นความผิดปกติเร็วแค่ไหนก็ยิ่งมีโอกาสที่จะช่วยลดผลกระทบที่รุนแรงของโรคที่ตามมาได้ทันท่วงที
3. โรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ในสุนัข
โรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ในสุนัขนั้นมีความใกล้เคียงกับโรคอัลไซเมอร์ในคนมากเลยทีเดียว ในสุนัขที่อายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงที่เนื้อสมองฝ่อลงทำให้มีผลต่อเรื่องความจำและพฤติกรรมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป สุนัขที่เป็นโรคนี้จะพบว่ามีอาการ 5 แบบดังต่อไปนี้
- พฤติกรรมสับสน – สุนัขจะแสดงอาการมึนงง บางทีอาจจะดุร้ายก้าวร้าว จำเจ้าของไม่ได้
- มีวงจรการนอนหลับที่เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่พบว่าสุนัขจะตื่นตอนกลางคืนมากขึ้น และมักไปหลับในช่วงเวลากลางวันแทน รวมไปถึงบางครั้งอาจจะส่งเสียงเห่าหอนตอนกลางคืนร่วมด้วย
- การตอบสนองน้อยลง – ไม่ค่อยตอบสนองต่อเสียงเรียกเจ้าของ รวมไปถึงอาจจะไม่เล่นด้วยเหมือนเดิม
- ลืมกิจวัตรประจำวันที่เคยทำได้ – สุนัขอาจจะขับถ่ายเรี่ยราดหรือขับถ่ายในจุดอื่นในบ้านที่ไม่ใช่จุดที่เคยขับถ่ายประจำ หรืออาจจะหลงทางในบริเวณรอบๆ บ้านที่เมื่อก่อนเคยจำได้เป็นอย่างดี
- ระดับการทำกิจกรรมลดลง – สุนัขมักจะเซื่องซึม ไม่ค่อยทำกิจกรรม และเดินวนไปมาอย่างไร้จุดหมาย
อาการสมองเสื่อมในสุนัขยังไม่มีวิธีการรักษาอย่างแน่ชัด แต่โดยเบื้องต้นให้ปรับสิ่งแวดล้อมรอบตัวและเอาใจใส่เขาให้มากขึ้นจะทำให้สุนัขลดอาการเครียดลงได้ ร่วมกันกับการใช้ยาและให้อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ
4. โรคต้อกระจก
โรคเกี่ยวกับตาที่พบได้บ่อยในสุนัขสูงวัยคือโรคต้อกระจก โดยโรคต้อกระจกเกิดขึ้นจากความผิดปกติของเลนส์ตา ตามธรรมชาติแล้วเลนส์ตาจะต้องใสเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน แต่เมื่อเกิดความผิดปกติจากอายุที่มากขึ้น ทำให้โครงสร้างของเลนส์ตาค่อยๆ ขุ่นมัวลง จนแสงผ่านได้ไม่ดีเหมือนเคย ส่งผลให้สุนัขค่อยๆ มองเห็นแย่ลง หากมองไปที่ตาสุนัขจะเห็นเป็นเหมือนกับฝ้าขาว นั่นคือสัญญาณของโรคต้อกระจกนั่นเอง การรักษาโรคต้อกระจกสามารถทำได้โดยการผ่าตัดแก้ไข แต่ต้องได้รับการประเมินและวินิจฉัยทางสัตวแพทย์ก่อน
หากพบว่าสุนัขเริ่มแสดงอาการมองไม่เห็น เช่น เดินชน หรือมีท่าทีเดินแล้วชะงักโดยที่ไม่มีสาเหตุ และดวงตาเริ่มขุ่นมีฝ้าขาว ให้รีบพามาพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจตาทันทีเพราะยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ สุนัขก็ยิ่งมีโอกาสกลับมามองเห็นเหมือนเดิมมากขึ้นเท่านั้น
5. โรคมะเร็งและเนื้องอก
โรคมะเร็งในสุนัขถือว่าเป็นอีกโรคที่พบได้มากในสุนัขสูงอายุ ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาทางสัตวแพทย์พัฒนามากขึ้น ทำให้สุนัขมีอายุยืนยาวมากขึ้น จึงทำให้เราพบโรคมะเร็งในสุนัขมากขึ้นด้วย โรคมะเร็งในสุนัขนั้นเกิดขึ้นจากที่เซลล์ในร่างกายเกิดความผิดปกติ ทำให้มีการขยายตัวอย่างไม่มีการควบคุมจนกลายเป็นเนื้อร้ายในร่างกาย เราสามารถพบมะเร็งได้ในหลายๆ อวัยวะ โดยที่พบได้บ่อยคือมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งผิวหนัง ส่วนเนื้องอกนั้นคือเซลล์ที่เจริญผิดปกติคล้ายกับมะเร็งแต่ไม่รุนแรงเท่า โดยอาจเป็นตุ่มหรือก้อนเนื้อตามตัว แต่อย่างไรก็ดีเนื้องอกก็อาจจะพัฒนากลายเป็นมะเร็งได้ด้วยเช่นกัน
จุดที่เจ้าของสามารถสังเกตได้คือก้อนมะเร็งจะเจริญเติบโตเร็วมาก จนเราเห็นจากตุ่มกลายเป็นก้อนเนื้อในเวลาเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ หากพบว่าสุนัขของเรามีปุ่มหรือก้อนเนื้อตามตัวแล้วขยายขนาดอย่างรวดเร็วให้พามาพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสอบได้เลย บางครั้งยิ่งตรวจพบเร็วอาจจะสามารถผ่าตัดหรือเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันก่อนที่เนื้องอกจะกลายเป็นมะเร็งชนิดรุนแรงได้
6. โรคหัวใจในสุนัข
เมื่ออายุมากขึ้น หัวใจก็จะค่อยๆ เสื่อมสภาพได้ด้วยเช่นกัน โรคหัวใจในสุนัขเป็นอีกหนึ่งโรคที่สำคัญในสุนัขสูงวัย ความผิดปกติของหัวใจที่พบได้มากของสุนัขสูงอายุคือลิ้นหัวใจเสื่อมและโรคหัวใจโต ซึ่งทั้งสองโรคนี้ส่งผลทำให้สุนัขมีอาการเหนื่อยง่าย หอบ ไม่สามารถออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมหนักๆ ได้ อาจจะเป็นลม ร่วมกันกับอาการไอ หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ สุนัขจะเริ่มมีอาการผอมซูบ และสภาพร่างกายแย่ลงเรื่อยๆ และอาจหัวใจวายจนเสียชีวิตได้
โรคหัวใจในสุนัขเป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลและรักษากับสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยสัตวแพทย์อาจจะตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) และอัลตราซาวด์หัวใจเพื่อหาสาเหตุที่ตรงจุด ส่วนวิธีป้องกันนั้นทำได้โดยพาสุนัขมาตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์ 1-2 ครั้งต่อปี เมื่อสัตวแพทย์ฟังเสียงหัวใจแล้วจะพอประเมินเบื้องต้นได้ว่าหัวใจของสุนัขผิดปกติหรือไม่ หากพบว่ามีเสียงผิดปกติก็จะได้เริ่มต้นรักษาได้อย่างทันท่วงที
7. โรคเกี่ยวกับช่องปากและฟัน
หลายคนมักมองข้ามปัญหาเกี่ยวกับช่องปากและฟันของสุนัขไป จริงๆ แล้วสุนัขเองก็มีหินปูนเกาะที่ฟันได้เช่นกัน และเมื่อปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานๆ ก็จะทำให้เกิดปัญหากลิ่นปาก เหงือกร่น ฟันผุตามมาได้ โดยสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างคาดไม่ถึงคือเชื้อโรคสามารถผ่านเข้ามาทางเหงือกและฟันที่ถูกทำลายและทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจในสุนัขตามมาได้ รวมไปถึงการขูดหินปูนในสุนัขจำเป็นต้องได้รับการวางยาสลบ ดังนั้นยิ่งปล่อยให้สถานการณ์แย่ลง ก็จะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการวางยาสลบมากขึ้น
ดังนั้นจึงควรหมั่นดูแลช่องปากของสุนัขให้ดี พาสุนัขไปขูดหินปูนปีละครั้ง และที่สำคัญคือห้ามปล่อยปละละเลยเด็ดขาด ยิ่งสุนัขอายุมากควรหมั่นสังเกตในปากเขาเป็นประจำว่าปกติดีหรือไม่ หากพบปัญหาควรรีบพาไปปรึกษาสัตวแพทย์ทันที
8. ภาวะอ่อนแรง
ในสุนัขอายุมากอาจจะพบอาการอ่อนแรงได้ง่าย สาเหตุนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายประการมากๆ ตั้งแต่โรคหัวใจ โรคไตในสุนัข หรือแม้แต่โรคติดเชื้อต่างๆ อาการอ่อนแรงนั้นเป็นอาการเบื้องต้นของโรคหลายชนิด ดังนั้นถ้าพบว่าสุนัขมีอาการซึม อ่อนแรง หรือไม่มีแรง ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วเพื่อวินิจฉัยต่อไป แต่อย่างไรก็ดีต้องเข้าใจว่าภาวะอ่อนแรงกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงในสุนัขนั้นไม่เหมือนกัน หลายคนเข้าใจผิดว่าสุนัขอ่อนแรงคือเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงในสุนัขด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงในสุนัขเกิดจากความผิดปกติกับระบบประสาทสั่งการของสุนัข มีผลทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง คล้ายเป็นอัมพาต สามารถเกิดขึ้นได้ในสุนัขทุกอายุ และพบได้น้อย อาการอ่อนแรงส่วนใหญ่ในสุนัขอายุมากมักเกิดขึ้นจากสุขภาพอ่อนแอจากโรคต่างๆ มากกว่า
สรุป
หลังสุนัขเข้าสู่ช่วงสูงวัยคือหลังอายุ 6-8 ปีแล้ว อวัยวะภายในและระบบต่างๆ ในร่างกายของพวกเขาก็มีแนวโน้มเริ่มทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคไต หรือปัญหาด้านสมอง เจ้าของจึงควรหมั่นพาสุนัขไปตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้งกับสัตวแพทย์ เพื่อดูว่าการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายยังเป็นปกติดีไหม ถ้าพบว่ามีความผิดปกติก็จะได้รีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เลย หลายครั้งยิ่งเราตรวจพบโรคได้เร็วมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสรักษาให้หายหรือช่วยให้สุนัขมีคุณภาพชีวิตที่ยืนยาวขึ้น โดยเฉพาะในหลายโรคอันตราย เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคไตวายเรื้อรัง
อีกเรื่องที่สำคัญสำหรับสุนัขสูงวัยคือเรื่องของอาหารและโภชนาการ สุนัขสูงวัยควรได้รับอาหารที่มีโภชนาการและสารอาหารเหมาะสมกับอายุ อย่าลืมให้ SUPERCOAT® (ซุปเปอร์โค้ท®) สูตรสุนัขโต แก่สุนัขของคุณ ที่เราได้พัฒนาสูตรอาหารเป็นพิเศษโดยผู้เชี่ยวชาญอาหารสัตว์ของเพียวริน่า จึงมั่นใจได้เลยว่ามีสารอาหารครบครัน 100% เหมาะสมกับอายุ และยังทำให้สุขภาพแข็งแรงด้วยการเสริมวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็น รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน มีเส้นใยธรรมชาติเพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น และยังปราศจากสีและวัตถุปรุงแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์อีกด้วย
สุดท้ายคืออย่าลืมคอยดูแลและให้ความรักกับเขาเหมือนเดิม แม้ว่าสุนัขจะอายุมากและอาจจะไม่กระฉับกระเฉงหรือมาอ้อนเราเก่งเหมือนกับสมัยตอนยังเด็กอีกแล้ว แต่เขาก็ยังรักและต้องการใช้เวลากับเราอยู่เหมือนเดิม มาบำรุงเขาให้แข็งแรงด้วยการให้อาหารที่มีสารอาหารเหมาะสมกับอายุ คอยหมั่นสังเกตความผิดปกติและพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์อยู่เสมอ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้ และช่วยให้เขาสามารถอยู่เล่นสนุกและสร้างประสบการณ์ดีๆ ร่วมกับเราได้อีกนาน