- แมวสงบ
- เข้ากับคนง่ายและต้องการการดูแล
- แมวเงียบ
- รูปร่างทั่วไป
- ต้องดูแล/ตัดขนทุกวัน
- สายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้
- ต้องการพื้นที่นอกบ้านบ้าง
- แมวที่เหมาะกับเลี้ยงในครอบครัว
ข้อมูลสำคัญ
อายุเฉลี่ย : | 12-15 ปี |
น้ำหนัก : | 3–7.2 กิโลกรัม |
สีขน : | แมวชินชิล่ามีสีเพียงสีเดียวคือสี pure white พร้อมปลายขนสีเข้ม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสี black แต่บางครั้งก็อาจพบสี golden หรือสี silver ได้ |
คะแนนรวม
ความเป็นมิตรกับครอบครัว : | 1/5 |
ความขี้เล่น : | 2/5 |
ความฉลาดแสนรู้ : | 4/5 |
ระดับการส่งเสียง : | 2/5 |
ความเข้ากันได้ดีกับสัตว์เลี้ยงอื่น : | 5/5 |
ความต้องการการดูแลขน : | 5/5 |
การผลัดขน : | 3/5 |
ลักษณะนิสัย
ถ้าให้นึกบรรยากาศรอบตัวของแมวพันธุ์นี้ก็คงนึกถึงบรรยากาศที่เงียบและสงบ แมวชินชิล่าเป็นแมวที่ไม่ค่อยจะแอคทีฟสักเท่าไหร่ รวมไปถึงเป็นแมวที่ไม่ได้เรียกร้องอะไรกับเจ้าของมาก แต่ก็ไม่ได้หมายว่าแมวพันธุ์นี้จะไม่รักเจ้าของนะ เจ้าชินชิล่าเป็นแมวที่มีความซื่อสัตว์และรักเจ้าของมาก อีกทั้งชอบที่จะได้ใช้เวลากับเจ้าของอีกด้วย เพียงแต่ว่าเป็นแมวที่ไม่ค่อยชอบลุกขึ้นมาออกกำลังกาย เลยออกแนวเป็นแมวขี้เกียจไปบ้าง ดังนั้นจึงจะต้องใช้ของล่อตาล่อใจเพื่อให้น้องแมวพันธุ์นี้ได้ออกมาเล่น และถึงจะดูไม่ค่อยชอบออกไปไหนแต่การทิ้งแมวชินชิล่าไว้ที่บ้านเพียงลำพัง ก็อาจจะเหงาเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากทิ้งไว้เป็นเวลานาน ๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตามแมวพันธุ์นี้ก็ยังพอเข้ากับสัตว์ตัวอื่นที่บ้านได้ดีถ้าหากได้เติบโตมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก
โดยรวมแล้วแมวพันธุ์นี้ชอบการได้นอนกอดเจ้าของ นอนให้เจ้าของแปรงขน หรือให้คุณเจ้าของเอาใจ มากกว่าการได้ทำกิจกรรมที่อึกทึกคึกโครม ดังนั้นถ้าจะคาดหวังกิจกรรมโลดโผนหรือพวกกิจกรรมที่มีความซับซ้อนจากแมวพันธุ์นี้ก็คงยากหน่อยล่ะ
ประวัติความเป็นมา
แมวชินชิล่าเป็นแมวที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์จากแมวเปอร์เซียตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 โดยเป็นการคัดเลือกพันธุ์จากสี และได้ชื่อมาจากสัตว์ฟันแทะที่มีขนนุ่มสุด ๆ อย่างเจ้าชินชิล่า ที่มีลักษณะขนหนาสีขาวปลายเข้ม ทำให้ดูเป็นประกายสีเงินดึงดูดสายตาผู้คน
แมวชินชิล่าได้ชื่อว่าเป็นแมวพันธุ์แรก ๆ ที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์มาด้วยการคัดเลือกจากสีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันผู้พัฒนาสายพันธุ์ก็ได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่น ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง ลักษณะนิสัย รวมไปถึงสภาวะสุขภาพด้วยเช่นกัน
แมวพันธุ์ชินชิล่าจัดว่าอยู่ในกลุ่มแมวพันธุ์หน้าสั้น ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่เป็นโรคเหล่านี้ ได้แก่
- กลุ่มโรคทางเดินหายใจในสัตว์พันธุ์หน้าสั้น (Brachycephalic obstructive airway syndrome) เป็นภาวะที่มักพบในสัตว์พันธุ์หน้าสั้น เนื่องจากลักษณะโครงสร้างทางเดินหายใจที่พับไปมา ร่วมกับการมีหน้าสั้น ทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้นได้ง่าย ส่งผลให้ความสามารถในการออกกำลังกายลดลง ไปจนถึงอาจทำให้มีอาการหายใจลำบากอย่างรุนแรงได้
- ภาวะผิวหนังอักเสบ/ติดเชื้อ (Skin inflammation/infection) เนื่องจากแมวพันธุ์หน้าสั้นยังคงมีปริมาณผิวหนังเท่ากับในแมวปกติ แต่ด้วยหน้าที่สั้น ทำให้มีผิวหนังส่วนเกินทั้งใบหน้า เกิดเป็นพับผิวหนัง (skin fold) ซึ่งในร่องพับของผิวหนังเป็นพื้นที่ที่อาจเกิดการระคายเคือง ไปจนถึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่าผิวหนังปกติ
- แผลหลุมที่ตา (Eye ulcers) มีลักษณะเป็นแผลหลุมบนผิวดวงตาที่สร้างความเจ็บปวดให้กับแมวเป็นอย่างมาก ในแมวพันธุ์หน้าสั้นมักพบแผลหลุมที่ตาเนื่องจากลักษณะตาโปน ทำให้มีโอกาสสัมผัสกับสิ่งระคายเคืองได้ง่ายกว่าปกติ
นอกจากนี้ยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะมีภาวะดังนี้
- Polycystic kidney disease เป็นภาวะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งก่อให้เกิดถุงน้ำในไต ส่งผลต่อการทำงานของไต ไปจนถึงอาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้
แมวชินชิล่าก็สามารถสนุกไปกับพื้นที่นอกบ้านได้เช่นกัน ดังนั้นพื้นที่สวนที่ปลอดภัยหรือการเข้าถึงพื้นที่ปิดสำหรับน้องแมวก็เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์จุดนี้ได้ อย่างไรก็ตามด้วยความที่เป็นแมวที่เป็นมิตร เป็นแมวเฉื่อย ไม่ค่อยปราดเปรียว ก็มีโอกาสตกเป็นเป้าของโจรขโมยแมวได้เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยน้องอิสระในพื้นที่เปิดขณะที่ไม่มีคนคอยเฝ้าอยู่ โดยคุณเจ้าของสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นที่สวนปลอดภัยสำหรับน้องแมวได้จากบทความของเรา
ด้วยความรักในการอยู่เฉย ๆ ทำให้กิจกรรมของเจ้าแมวชินชิล่าอาจต้องสนุกไปพร้อมกับการมีอาหารมาล่อ เช่น ของเล่นให้อาหาร ต้นไม้แมวที่แอบซ่อนอาหารไว้หลาย ๆ จุด ไปจนถึงการเล่นริบบิ้นหรือไม้ตกแมว อีกทั้งแมวพันธุ์นี้ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นแมวยอดนักไขปริศนาในเกมต่าง ๆ ที่ซับซ้อน ดังนั้นจึงควรเลือกกิจกรรมที่เรียบง่ายและสนุก เพราะกิจกรรมที่ยุ่งยากนั้นอาจทำให้แมวพันธุ์นี้หงุดหงิดหรือถอดใจไปเลยก็ได้
แมวทุกตัวล้วนมีรสนิยมเฉพาะตัว ในเรื่องการกินก็มีสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ไม่ชอบ และสิ่งที่ต้องการ แต่อย่างไรก็ตามแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ และแมวทุกตัวจำเป็นต้องได้รับสารอาหารทั้งหมด 41 ชนิด ซึ่งจะได้รับทางการกินอาหารเท่านั้น โดยสัดส่วนความต้องสารอาหารนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละตัว ขึ้นกับอายุ ไลฟ์สไตล์ และสภาวะสุขภาพโดยรวม
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่ลูกแมววัยกำลังซนจะมีความต้องการสารอาหารแตกต่างจากแมวสูงวัยที่ไม่ค่อยวิ่งเล่นแล้ว และอีกสิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้เสมอคือการให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อคงหุ่นของแมวให้มีหุ่นที่ดีเสมอ โดยปริมาณการให้อาหารสามารถพิจารณาตามวิธีการให้อาหารของแต่ละผลิตภัณฑ์ และสามารถปรับปริมาณการให้ได้ตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นอาหารเปียกหรืออาหารแห้งก็ตาม
แมวชินชิล่าต้องได้รับการแปรงขนเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ขนที่ยาวของน้องไม่พันกันเป็นสังกะตัง โดยการละเลยการดูแลขนจนขนพันกันนั้นอาจต้องแก้ปัญหาที่การตัดขนทั้งตัว แล้วต้องรอให้ขนงอกใหม่ก็เป็นได้ ส่วนบริเวณดวงตาของแมวชินชิล่าควรต้องได้รับการทำความสะอาดคราบน้ำตาเป็นประจำ ตั้งแต่มุมตาไปจนถึงข้างจมูก นอกจากนี้บริเวณก้นและบริเวณใต้หางก็เป็นบริเวณที่สกปรกได้ง่ายจากการเปื้อนอุจจาระ จึงควรต้องทำความสะอาดเป็นประจำเช่นกัน เพื่อป้องกันคราบที่อาจเกิดขึ้น
และที่สำคัญ การที่เจ้าของเห็นว่าขนน้องแมวดูเป็นมันเยิ้ม อาจบ่งบอกได้ว่าสุขภาพน้องแมวมีบางอย่างผิดปกติไป ทำให้น้องแมวไม่เลียขนแต่งขนตัวเอง และนอกจากนี้ก็เช่นเดียวกันกับแมวทั่วไปคือ ควรทำวัคซีนให้ครบ ควบคุมปรสิตอย่างต่อเนื่อง และหมั่นพาน้องไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
แมวชินชิล่าเป็นแมวที่รักความเงียบสงบ ดังนั้นจึงเหมาะกับบ้านที่สมาชิกในบ้านค่อนข้างโตเป็นวัยรุ่นแล้ว ไม่มีเด็กเล็ก