Your Pet, Our Passion.
ฝึกสุนัข

เทคนิคการฝึกสุนัขขั้นพื้นฐาน

3 นาที

การสอนและวิธีฝึกสุนัขให้เข้าใจคำสั่งพื้นฐานและสัญญาณต่าง ๆ เป็นเรื่องสนุกและสร้างความทรงจำที่มีค่าสำหรับเจ้าของและสัตว์เลี้ยง เราควรหาวิธีฝึกสุนัขตั้งแต่ยังเล็กเพื่อปูพื้นฐานให้ถูกต้องก่อนที่เขาจะโตขึ้น นอกจากนี้ การฝึกลูกสุนัขยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ ได้ใช้เวลาร่วมกันและยังสนุกอีกด้วย

สุนัขมักเรียนรู้ได้เร็วหากเราใจเย็นค่อย ๆ ฝึกให้เขารู้จักคำสั่ง “มา” “นั่ง” หรือ “คอย” รวมถึงสอนการขับถ่ายให้เป็นที่ เขาจะสัมผัสได้ถึงความรักและกระชับความสัมพันธ์กับคุณพร้อมเติบโตเป็นสุนัขนิสัยดีด้วย ลูกสุนัขนั้นเป็นเหมือนนักเรียนตัวน้อยที่อยากเรียนรู้ ดังนั้นเราควรเริ่มคิดหาวิธีฝึกสุนัขให้เร็วที่สุดตั้งแต่เริ่มนำมาเลี้ยง ว่ากันว่าควรรอให้สุนัขอายุอย่างน้อย 6 เดือนก่อนจึงจะเริ่มฝึกได้ แต่ที่จริงแล้ว “ไม้อ่อนนั้นดัดง่าย” ยิ่งอายุน้อย ยิ่งสอนง่าย ลูกสุนัขเหมือนฟองน้ำขนฟูที่พร้อมดูดซับข้อมูลทั้งหมดที่เราสอนPurina ได้รวบรวมคำแนะนำต่างๆ ที่มีประโยชน์ในการฝึกสุนัขขั้นพื้นฐานไว้แล้วในบทความนี้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติ่มและวิธีการฝึกสุนัขขั้นสูง ควรปรึกษาครูฝึกสุนัขมืออาชีพ

  • การฝึกลูกสุนัขควรใช้เวลาสั้นและสนุก ลูกสุนัขมีสมาธิแค่ช่วงสั้น ๆ ดังนั้นจึงควรกำหนดให้สอนแค่ช่วงละ 5 นาที ติดต่อกันเป็นเวลา 6 วันแทนที่จะสอนครั้งเดียวต่อเนื่องนาน 30 นาที
  • ไม่ควรฝึกสุนัขเมื่อคุณอารมณ์ไม่ดี สุนัขจับอารมณ์ของมนุษย์ได้ไว ดังนั้นเขาจึงรู้ว่า คุณกำลังเครียดหรืออารมณ์เสียหรือไม่ ขณะที่ฝึกสอน
  • ปิดท้ายการฝึกด้วยการออกกำลังกายที่เขาทำได้ง่ายเพื่อสร้างความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จ กรณีนี้ใช้ได้กับทั้งลูกสุนัขและสุนัขโต
  • ในช่วงเริ่มต้นการฝึก หลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนสมาธิ เริ่มต้นปูพื้นฐานการฝึกในสถานที่ซึ่งไม่มีเสียงรบกวนก่อนที่จะค่อย ๆ เพิ่มสิ่งรบกวนเข้าไปเรื่อย ๆ นี่จะช่วยให้สุนัขคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ
  • การฝึกต้องมาพร้อมกับรางวัลเสมอ ดังนั้นควรเตรียมของเล่น ขนมและตุ๊กตาไว้ให้พร้อม การฝึกเชิงลบและการลงโทษเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่ควรนำมาใช้เลย นอกจากนี้ไม่ควรกระชากโซ่คล้องปลอกคอเพราะจะทำให้คอสุนัขบาดเจ็บได้ง่าย
  • เมื่อสุนัขปฏิบัติตามหลักออกกำลังกายได้แล้ว ควรเปลี่ยนรางวัลจากขนมเป็นของเล่นหรือลดปริมาณอาหารมื้อหลักตามปริมาณขนมที่ให้เพื่อควบคุมน้ำหนัก

การฝึกด้วยคลิกเกอร์คือ การใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กที่ส่งเสียง “คลิก” ในการฝึก ขนาดเล็กพอดีมือและหาซื้อได้จากร้านสัตว์เลี้ยงทั่วไป การฝึกโดยใช้คลิกเกอร์ช่วยให้สุนัขเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำถูกต้องแล้วหรือไม่ เป็นอุปกรณ์สื่อสารกันระหว่างผู้ฝึกและสุนัข กติการการใช้คลิกเกอร์ประกอบการฝึก

  • ขั้นแรก ให้เตรียมขนม/รางวัลให้พร้อม
  • ค่อย ๆ ยื่นให้สุนัขครั้งละชิ้น โดยให้หยุดเป็นช่วงสั้น ๆ ก่อนที่จะให้ชิ้นต่อไป
  • ช่วงที่สุนัขรับขนม ให้กดคลิกเกอร์จนได้ยินเสียง “คลิก”
  • สุนัขจะค่อย ๆ เชื่อมโยงเสียง “คลิก” ว่าหมายถึงขนม ดังนั้นเขาจะตั้งใจฝึกเพื่อให้ได้ยินเสียงนี้ คลิกเกอร์เป็นสัญญาณบอกสุนัขว่า “ใช่ ถูกต้องแล้ว”
  • สถานฝึกสุนัขหลายแห่งมักใช้คลิกเกอร์ประกอบการฝึก แต่ที่จริงแล้ว อาจฝึกสุนัขโดยไม่ต้องใช้คลิกเกอร์ก็ได้

หากเตรียมอุปกรณ์และเข้าใจกติกาการฝึกด้วยคลิกเกอร์เรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มขั้นตอนการฝึกกันเลย

เรามักคาดหวังให้สุนัขนั่งลงตามที่สั่ง แต่เราควรถามตัวเองด้วยว่าเราฝึกสุนัขให้ทำตามคำสั่งนี้ได้ดีพอแล้วหรือยัง

ยังไม่สายเกินไปที่จะสอนให้สุนัขเข้าใจคำสั่ง “นั่ง” เพราะฉะนั้นมาเริ่มกันเถอะ

  • เมื่อสุนัขยืนอยู่นิ่ง ๆ ให้ยื่นขนมเข้าไปใกล้จมูก
  • ไม่ควรให้สุนัขดมขนมนานเกินไปเพื่อป้องกันไม่ให้เขากระโดดโลดเต้น ถือขนมไว้ใกล้ ๆ จมูกของสุนัขแล้วค่อย ๆ เลื่อนมือข้ามหัวของสุนัข
  • เมื่อสุนัขมองตามมือและเงยหน้าขึ้น สุนัขจะถูกบังคับให้นั่งก้นแตะพื้นเองตามธรรมชาติ เมื่อสุนัขอยู่ในตำแหน่งนี้แล้ว ให้กดคลิกเกอร์เพื่อชมพร้อมกับให้ขนมเป็นรางวัล
  • ฝึกแบบนี้ซ้ำหลาย ๆ ครั้งต่อเนื่องกัน
  • สุนัขจะเริ่มชินกับการนั่ง ให้เริ่มออกคำสั่ง “นั่ง” ควบคู่เมื่อสุนัขขยับตัวเพื่อนั่ง
  • ฝึกแบบนี้ซ้ำหลาย ๆ ครั้งต่อเนื่องกัน อย่าลืมออกคำสั่ง “นั่ง” ในจังหวะที่สุนัขกำลังจะนั่งเท่านั้น ไม่ควรใช้คำสั่งนี้ก่อนหรือหลังการขยับตัวนั่ง
  • เมื่อแน่ใจแล้วว่าสุนัขทำตามคำสั่งได้ถูกต้อง ให้ทดลองออกคำสั่งให้สุนัขนั่งโดยไม่มีขนมมาล่อ
  • เมื่อก้นของสุนัขแตะพื้น กดคลิกเกอร์เพื่อชมและให้ขนมเป็นรางวัล แต่ถ้าสุนัขยังทำไม่ได้ก็ไม่ต้องกังวล ให้ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ สอนเขาต่อไปโดยย้อนไปฝึกแต่ละขั้นซ้ำอีก
  • เมื่อสุนัขทำตามได้เร็วขึ้นและทำตามได้ถูกต้องแล้ว ลองพาไปฝึกในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีสิ่งรบกวนหรือเพิ่มระยะห่างจากตัวคุณมากขึ้นเรื่อย ๆ

“หมอบ” เป็นคำสั่งพื้นฐานอีกหนึ่งคำสั่ง แต่ไม่ควรสับสนกับคำสั่ง “ลง” ที่ใช้เมื่อเราอยากให้สุนัขลงจากโซฟาหรือหยุดตะกายขาเรา ควรใช้คำสั่ง “หยุด” ในกรณีดังกล่าวและอย่าลืมให้รางวัลเมื่อเขาทำตามคำสั่งด้วย

  • เริ่มฝึกด้วยการกำขนมไว้ในมือโดยให้มีบางส่วนโผล่ออกมาให้สุนัขมองเห็นได้
  • ให้สุนัขดูและแบมือออกโดยวางทับขนมที่อยู่บนพื้น สุนัขจะพยายามทำทุกวิธีเพื่อเอาขนมมาให้ได้
  • สุดท้ายแล้วสุนัขก็จะหมอบลง เมื่อถึงขั้นนี้ กดคลิกเกอร์แล้วให้ขนมสุนัขพร้อมกับลูบหัวชมเชย
  • ฝึกแบบนี้ต่อไปอีก จนสุนัขเข้าใจว่า มือที่วางบนพื้นหมายถึง “การหมอบ” หลังจากนั้นเพิ่มคำสั่ง “หมอบ” เมื่อสุนัขทำท่านี้

เมื่อฝึกต่อไป สุนัขจะหมอบลงตามคำสั่งได้แม้จะไม่มีขนม

การสอนให้สุนัขกลับมาหาเราเมื่อเรียก (หรือ “มา”) เป็นคำสั่งสำคัญที่สุนัขต้องเรียนรู้ หัวใจสำคัญคือ เริ่มสอนตั้งแต่สุนัขยังเล็ก (เริ่มตั้งแต่อายุ 6-8 สัปดาห์) เพราะสุนัขยังชอบวิ่งตามเจ้าของอยู่ เมื่อสุนัขอายุ 6 เดือนแล้ว จะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง และการสอนให้กลับมาจะยากขึ้น

  • หาเพื่อนช่วยฝึกคำสั่งนี้เพิ่มอีก 1 คน
  • ให้เพื่อนนั่งคุกเข่าโดยมีสุนัขนั่งอยู่ใกล้ ๆ
  • นั่งลงตรงหน้าสุนัขและเรียกชื่อของสุนัขด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจนแล้วออกคำสั่งว่า “มา” ขั้นตอนนี้ไม่จำเป็นต้องให้สุนัขเดินไกลมากนัก
  • เมื่อสุนัขเดินมาหา อย่าลืมกางแขนออกคล้ายกับจะกอดรอด้วย การสอนจะง่ายขึ้นถ้าคุณมีขนมหรือของเล่นที่สุนัขชอบมาล่อ แต่คุณอาจจะขยับไม่สะดวกมากนัก
  • ให้ลองออกคำสั่งซ้ำอีก โดยนั่งห่างออกไปจากจุดเดิมอีก 2-3 ก้าว ออกคำสั่งให้ชัดเจนอีกครั้ง คราวนี้สุนัขแทบจะวิ่งมาหาคุณเลย เมื่อเขาทำตามคำสั่งได้ ให้กดคลิกเกอร์ อย่าลืมให้ขนมและชมเชยหลาย ๆ ครั้ง
  • ให้ฝึกซ้ำอีกและฝึกบ่อย ๆ โดยค่อย ๆ เพิ่มระยะห่างระหว่างคุณกับลูกสุนัขขึ้นเรื่อย ๆ อย่าลืมลูบหัวชมเชยสุนัขบ่อย ๆ เมื่อเขาทำตามคำสั่ง
  • เมื่อสุนัขทำตามคำสั่งได้ถูกต้องแล้ว เริ่มฝึกขั้นต่อไปโดยออกคำสั่ง “มา” แต่ไม่ให้เขาเห็นตัวคุณ ขั้นนี้อาจลองเล่นเกมซ่อนหาในบ้านเพื่อที่สุนัขจะได้ฝึกหาตัวคุณ
  • หลังจากนั้น ลองออกไปเล่นในสวน และสร้างบรรยากาศรบกวนสมาธิสุนัข เช่น ให้เพื่อนเดินผ่าน แต่ถ้าไม่มีสวน ลองยืมสถานที่จากเพื่อน แต่ไม่ควรฝึกขั้นตอนนี้ในสถานที่สาธารณะ
  • เมื่อลูกสุนัขทำตามคำสั่งได้ในสถานที่ปิดโดยมีสิ่งรบกวนได้แล้ว ก็ลองพาเขาไปฝึกในสวนสาธารณะ ให้ใช้สายจูงที่ปรับได้หรือใช้สายจูงเพื่อการฝึกที่ยาวพอสมควรเพื่อให้สุนัขรู้สึกว่า เขาขยับตัวไปมาได้ตามต้องการแต่เราก็ยังควบคุมสุนัขได้
  • ให้เขาฝึกคำสั่ง “มา” ซ้ำ ๆ อีก ขั้นตอนนี้คุณต้องพยายามทำให้ตัวเองดึงดูดมากที่สุด เพราะจะมีสิ่งรบกวนสมาธิสุนัขหลายอย่าง
  • ถ้าสุนัขวิ่งไปฝั่งตรงข้ามหรือไม่ฟังคำสั่ง ห้ามวิ่งไล่ตาม เพราะสุนัขจะคิดว่า กำลังเล่นเกมอยู่ แต่ให้วิ่งไปในทิศตรงกันข้ามกับสุนัขแทน ลูกสุนัขจะงงและสุดท้ายวิ่งตามคุณแทน การสอนแบบนี้เป็นการฝึกให้สุนัขจับตาดูเจ้าของเวลาที่ออกไปข้างนอก เผื่อกรณีที่อาจมีการพลัดหลงจากคุณ
  • อย่าลืมชม ให้ขนมหรือรางวัลเขาด้วย สิ่งเหล่านี้สำคัญมากในการฝึกทั้งสุนัขโตหรือลูกสุนัข ไม่ควรตะโกนหรือแสดงความโกรธเมื่อเขาไม่มาหาตามคำสั่งหรือมาตามคำสั่งแต่ช้า เพราะจะทำให้สุนัขสับสน เราต้องการฝึกให้ลูกสุนัขจดจำคำสั่งโดยเชื่อมโยงการชมเชยกับการกลับมาหาคุณ ดังนั้นควรอดทนและฝึกเขาให้มากขึ้น

วิธีฝึกสุนัขให้เข้าใจคำสั่ง “คอย” น่าจะเป็นสัญญาณคำสั่งอย่างหนึ่งที่ยากที่สุด เหตุผลง่าย ๆ คือ ลูกสุนัขไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ แต่การฝึกให้ทำตามคำสั่งนี้สั้น ๆ บ่อย ๆ จะช่วยให้เขาทำตามได้ดี

  • เริ่มต้นโดยออกคำสั่ง “หมอบ-คอย” สั่งให้สุนัข “หมอบ”
  • ออกคำสั่ง “คอย” โดยใช้น้ำเสียงหนักแน่นเรียบ ๆ พร้อมกับยื่นมือไปข้างหน้าโดยให้หันฝ่ามือออก
  • แล้วรอประมาณ 2-3 วินาทีก่อนกดคลิกเกอร์และให้รางวัลเมื่อสุนัขทำตามคำสั่ง “คอย” ได้ ให้ฝึกแบบนี้ซ้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง
  • อันดับต่อไปให้ออกคำสั่งให้สุนัข “หมอบ” ก่อนผละออกจากสุนัขและออกคำสั่ง “คอย”
  • รอประมาณ 2-3 วินาที จึงค่อยกดคลิกเกอร์ ก้าวไปหาสุนัขแล้วให้รางวัล อย่าลืมลูบหัวชมสุนัขมาก ๆ
  • หลังจากนั้นค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาและระยะห่างให้สุนัขในการฝึก “คอย” แต่ไม่ควรพยายามฝึกหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กันจนเกินไป
  • ถ้าหากสุนัขไม่ยอม “คอย” ไม่ควรตะโกนใส่สุนัข เขาจะเรียนรู้ในไม่ช้าว่า ถ้าไม่ได้ยินเสียงคลิก จะไม่มีขนม รางวัลหรือคำชมตามมา
  • เมื่อสุนัขทำตามคำสั่ง “หมอบ-คอย” ได้ดีแล้ว ต่อไปให้สอนสุนัขให้คอยในท่า “นั่ง” และสุดท้ายคือ การคอยในท่า “ยืน” ทั้งหมดนี้ใช้เทคนิคเหมือนกันทุกประการ

การฝึกสุนัขนั้นอาศัยการให้รางวัลตอบแทนเมื่อเขาทำตัวดี และมองข้ามการตอบสนองที่ไม่ต้องการ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่สุนัขต้องการก็คือ การยอมรับจากคุณ แต่บางครั้งคุณก็ต้องแสดงให้สุนัขได้เห็นว่า คุณไม่ยอมรับพฤติกรรมของเขา ในกรณีเช่นนี้แทนที่จะตะโกนหรือย้ำคำสั่ง “ไม่” หลาย ๆ ครั้ง ควรฝึกให้สุนัขรู้จักคำสั่ง “ไม่” ที่เป็นการสั่งให้สุนัขหยุดสิ่งที่เขากำลังทำอยู่โดยทันทีที่ได้ยินคำสั่งนี้

การสอนและวิธีฝึกสุนัขให้เรียนรู้คำสั่ง “ไม่” ทำได้โดยใช้แผ่นฉาบฝึกสุนัข (dog-training discs) ยกเว้นว่า สุนัขของคุณขี้กังวลหรือตกใจง่ายเมื่อได้ยินเสียงดังฉับพลัน การฝึกนี้ใช้แผ่นโลหะ 5 แผ่นที่ดูคล้ายฉาบเล็ก ๆ ร้อยห่วงให้ติดกัน ให้ถือแผ่นฉาบนี้ไว้ให้แน่นเพื่อไม่ให้มีเสียงดัง แต่เมื่อออกคำสั่ง “ไม่” ให้ปล่อยแผ่นฉาบกระทบกันเพื่อให้เกิดเสียงที่สุนัขน่าจะไม่เคยได้ยินจากที่ไหนมาก่อน

  • แต่ก่อนที่จะเริ่มสอนคำสั่ง “ไม่” สิ่งแรกที่ต้องเตรียมคือ ขนมรางวัล ขั้นตอนนี้จะคล้ายกันกับเมื่อเราสอนให้สุนัขจดจำเสียงคลิกกับขนม แต่คราวนี้เราสอนให้สุนัขจำเสียงฉาบที่เป็นสัญญาณว่า “ห้ามกินขนม”
  • วางขนมลงบนพื้น เมื่อสุนัขเดินมาเพื่อกินขนมนี้ ให้สั่นฉาบที่เราถืออยู่ ให้ย้ายขนมออกเมื่อเราสั่นฉาบแต่ไม่ต้องพูดอะไร เพื่อให้เสียงทำงานแทนคำสั่งของเรา
  • เมื่อทำซ้ำสัก 2-3 ครั้งแล้ว สุนัขจะเริ่มชินกับเสียงและเริ่มเชื่อมโยงเสียงนี้เข้ากับการไม่ได้รับรางวัล หลังจากนั้นสุนัขก็จะไม่พยายามขอขนมอีก และตั้งใจฟังเสียง หยุดพร้อมกับทำสีหน้าผิดหวัง
  • ต่อไปให้สุนัขทำตามคำสั่งอื่น ๆ เช่น “นั่ง” และให้ขนมเป็นรางวัล การทำเช่นนี้จะเป็นการชดเชยความผิดหวังและหงุดหงิดที่เกิดขึ้นให้กับสุนัข

เมื่อแน่ใจแล้วว่า สุนัขเชื่อมโยงการกระทำกับเสียงฉาบที่เป็นการบอกว่า “ไม่” ได้แล้ว ให้เริ่มออกคำสั่ง “ไม่” ควบคู่ด้วย สุนัขจะเข้าใจคำสั่งโดยไม่ต้องใช้เสียงฉาบเข้าช่วย

เราสามารถนำแผ่นฉาบมาประกอบการสอนคำสั่ง “ปล่อย” ให้กับสุนัขได้ด้วย

  • เริ่มจากการวางของอร่อยไว้บนโต๊ะ ในระยะที่สุนัขเอื้อมถึงได้ ออกคำสั่ง “ปล่อย” พร้อมกับเริ่มนับ 1-3 ก่อนที่จะให้ขนมสุนัขเป็นรางวัล (แต่ต้องไม่ใช่ขนมชนิดเดียวกันกับขนมที่นำมาใช้ฝึก)
  • หากสุนัขเข้าไปอาหารที่วางไว้บนโต๊ะ ให้สั่นกระพรวนฉาบ
  • หลังฝึกได้สัก 2-3 ครั้งแล้ว ค่อย ๆ เพิ่มเวลาให้นานขึ้น โดยให้สุนัขคอยสักครู่ก่อนที่จะให้รางวัล

  • เมื่อเราเห็นสุนัขปีนป่ายอยู่บนโซฟาหรือที่นอน สั่งว่า “ลง” และกระตุ้นให้เขาเดินมาหาเรา
  • เมื่อสุนัข “ลง” มาแล้ว ค่อย ๆ ให้รางวัลพร้อมกับลูบหัวชมเชยและกดคลิกเกอร์ให้มีเสียง “คลิก” ก่อนที่จะใช้คำสั่งที่ได้จากการฝึกขั้นพื้นฐาน เช่น “นั่ง” หรือ “หมอบ” ต่อไป ขั้นตอนนี้อาจให้รางวัลด้วยก็ได้

ความสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการออกคำสั่งต้องทำให้เหมือนกันทุกครั้ง ถ้าสุนัขทำเสียงขู่เวลาที่เราพยายามขยับตัวเขา ให้หยุด แล้วขอความช่วยเหลือจากครูฝึกมืออาชีพที่สัตวแพทย์แนะนำโดยเร็วที่สุด อย่าพยายามหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยตัวเอง เนื่องจากอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม

ควรปรึกษากับสัตวแพทย์เมื่อเรากังวลเรื่องสุขภาพของสุนัข เพราะคุณหมอคือผู้ที่ให้คำแนะนำหรือให้ข้อมูลการรักษาที่เหมาะกับสุนัขแต่ละตัวได้ สำหรับคำแนะนำด้านพฤติกรรมสุนัขนั้น ควรติดต่อกับครูฝึกมืออาชีพ หากต้องการข้อมูลสถานฝึกหรือครูฝึกสุนัขในพื้นที่และการบริการ